ตามที่คณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 46 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ให้การรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก อย่างเป็นทางการ ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” เมื่อวันที่ 27 ก.ค. หลังจากที่ประเทศไทยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี 2547 โดยภูพระบาทถือเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 8 และมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 5 ของประเทศไทย นั้น
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขา ชื่อว่า “ภูพระบาท” ในเขตพื้นที่เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของ จ.อุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320-350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมา ได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุได้ราว 2,500-3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสี อยู่มากกว่า 54 แห่ง บนภูเขาลูกนี้
ภาพเขียนสีที่พบบนภูพระบาท มีทั้งแบบเขียนด้วยสีเดียว คือ สีแดง และหลายสี คือ สีแดง ขาว เหลือง ตัวภาพแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. ภาพเสมือนจริง ได้แก่ ภาพคน สัตว์ พืช สิ่งของ 2. ภาพนามธรรม ได้แก่ ภาพสัญลักษณ์ ลายเรขาคณิต ซึ่งสีที่นำมาใช้เขียนนั้น สันนิษฐานว่าเป็นสีที่นำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ดินเทศ แร่เฮมาไทต์ โดยอาจนำสีที่ได้นี้ไปผสมกับของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นกาว เช่น ยางไม้ แล้วจึงนำมาเขียนเพื่อให้สีติดกับเพิงหินทนนาน
พื้นที่บนภูพระบาท เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 หรือราว 1,400-1,000 ปีมาแล้ว ได้รับวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่มาจากภาคกลางของประเทศไทย พร้อมกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เนื่องในพุทธศาสนาขึ้น ได้แก่ การตกแต่งหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีรูปแบบการติดตั้งใบเสมาหินทรายล้อมรอบเอาไว้ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 อิทธิพลศิลปกรรมแบบเขมร ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้เข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ที่ถ้ำพระมีการตกแต่งสกัดหินเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมร ที่วัดพระพุทธบาทบัวบาน และที่วัดโนนศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับภูพระบาท มีการสลักลวดลายบนใบเสมาหินทรายเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ซึ่งมีลวดลายตามรูปแบบศิลปกรรมแบบเขมร หลังจากนั้นช่วงสมัยทวารวดีและเขมรผ่านไปในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 วัฒนธรรมล้านช้าง ได้แพร่เข้ามาที่ภูพระบาท พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูป เช่น พระพุทธรูปที่ถ้ำพระเลี่ยง ส่วนด้านสถาปัตยกรรมพบหลักฐานที่วัดลูกเขย ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งโบราณสถานจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด