จากกรณี “เดลินิวส์” ได้เสนอข่าวปัญหาการถือครองที่ดินของรัฐ และการประกอบธุรกิจวิลล่าหรูให้เช่าของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 และพบปัญหาความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยมีการประเดิม กล่าวโทษเอาผิดการก่อสร้างวิลล่าหรู จำนวน 53 หลัง บนเขาเฉวงน้อย พื้นที่ หมู่ 3 ต.บ่อผุด ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปทส. แต่ก็ได้เกิดเหตุขณะเข้าตรวจสอบ นักข่าวที่ติดตามทำข่าว กลับถูกชายฉกรรจ์ข่มขู่ อ้างทำให้ธุรกิจเสียหายและทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 / รองหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการก่อสร้างอาคารที่พักบนพื้นที่ภูเขาสูงและการประกอบธุรกิจของ “ชาวต่างด้าว” บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยคณะทำงานบูรณาการ “สมุยโมเดล” นำโดย พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 กอ.รมน.ภาค 4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ฝ่ายปกครองอำเภอเกาะสมุย, เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเกาะสมุย, เจ้าหน้าที่หน่วยป่าไม้สมุย สฎ.16 (เกาะสมุย), ตำรวจ สภ.บ่อผุด และพนักงานสืบสวน กอ.รมน.ภาค 4 เข้าตรวจสอบกลุ่มอาคาร 15 หลัง บนเขาเฉวงน้อย ในพื้นที่ หมู่ 3 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย โดยมีผู้ดูแลสถานที่ และทนายความนำตรวจสอบด้วยความร่วมมือที่ดี
จากการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มอาคารทั้ง 15 หลัง สร้างอยู่บนเนื้อที่ 11 ไร่ จุดก่อสร้างอยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางสูงกว่า 80-140 เมตร ทุกอาคารมีการก่อสร้างสูงเกินกว่า 6 เมตร มีหลังคาสีขาว ซึ่งไม่กลืนกับธรรมชาติ และมีอาคาร 11 หลัง สร้างอยู่ในพื้นที่ลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 หรือในเขตพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นเขตห้ามก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่นำตรวจ ผู้ดูแลอาคาร และทนายความ ได้นำเอกสารใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จำนวน 18 ใบ มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ โดยอีก 3 ใบเป็นของอาคารแฝด 3 หลัง เบื้องต้นตรวจสอบใบอนุญาตกับตัวอาคาร พบว่าผิดไปจากวิธีการและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น กำหนดไว้ในใบอนุญาต พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 65 วรรคแรก, วรรคสอง, มาตรา 72 ในลักษณะการต่อเติมอาคาร
ขณะที่ในการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า ในกลุ่มอาคาร มีการทำกิจกรรมในลักษณะ “โรงแรมที่พัก” มีพนักงาน 10 คน และตรวจสอบพบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้าพักค้างคืน 14 ห้อง จากการสอบถามผู้พักค้างคืนระบุว่า จองและชำระค่าที่พักในอัตราคืนละ 10,000-20,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายประกอบธุรกิจโรงแรม แต่ผู้ดูแลอาคารไม่สามารถนำใบอนุญาตมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยังพบว่าสถานประกอบการดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พ.ร.บ.โรงแรม
พล.ต.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ผลจากการตรวจสอบสถานที่ และเอกสารใบอนุญาตต่างๆ เบื้องต้นเชื่อว่า พื้นที่ดังกล่าว เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.ควบคุมสิ่งแวดล้อม, พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว พนักงานสืบสวน กอ.รมน. จะได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบปากคำพยานเพื่อกล่าวโทษต่อไป ยังคงยืนยันว่า กอ.รมน.ภาค 4 จะยังคงเดินหน้าตรวจสอบการถือครองที่ดิน ก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ภูเขาสูง และการประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าวบนเกาะสมุยต่อไป แม้ว่าในขณะนึ้จะมีกระแสต่อต้านบ้าง จากความกังวลของผู้ประกอบการที่เข้าใจว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
“ตรงนี้ยืนยันว่า การทำงานเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ หลังเกิดกรณีแหม่มชาวฝรั่งเศส ก่อเหตุฆ่าตัวตายแล้วยกทรัพย์สิน ซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับคนสนิทชาวไทย ในทางกฎหมายชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยตนเองไม่ได้ เมื่อเข้าตรวจสอบก็พบว่ามีการหลีกเลี่ยงกฎหมาย และเชื่อว่าเป็นแรงจูงใจให้มีการบุกรุกยึดครองที่ดินเพื่อนำไปขายให้กับบริษัทนิติบุคคล มีชาวต่างด้าวจดทะเบียนโดยใช้ตัวแทนอำพราง ซึ่งเป็นคนไทยไปดำเนินการ และการทำงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะสมุย เราดำเนินการมาก่อนแล้ว ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต กระบี่ สตูล เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว โดยใน 3 พื้นที่ ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล และเริ่มจะมีผลการพิจารณาออกมาบ้างแล้ว” และขอย้ำด้วยว่า ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมบัติของชาติ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้ร่วมกัน นอกเหนือจากที่เราจะใช้กฎหมายเข้าไปบังคับใช้แล้ว ทางกองทัพภาคที่ 4 ยังมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรักและหวงแหน ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ.