สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ว่าการตัดสินใจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า ประชาคมโลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติโรคเอดส์ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ภายในปี 2573 ได้หรือไม่

ตัวเลขจากปี 2566 แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อและการเสียชีวิตรายใหม่ลดลง และการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้ายังคงไม่มั่นคง “ผู้นำการตัดสินใจในปีนี้จะตัดสินว่า ประเทศต่างๆ จะสามารถบรรลุเป้าหมายปี 2573 ในการยุติโรคเอดส์ในฐานะภัยคุกคามด้านสาธารณสุข และรับประกันความก้าวหน้าหลังจากปี 2573” รายงานระบุ

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โรคเอดส์คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 42 ล้านราย แม้การเสียชีวิตจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 670,000 ราย ในปี 2565 เหลือ 630,000 ราย เมื่อปีที่แล้ว แต่จำนวนดังกล่าวยังคงสูงจนน่ากังวล “มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ทุกนาที” นางวินนี เบียนยิมา ผู้อำนวยการยูเอ็นเอดส์ กล่าว พร้อมเตือนว่า โลกยังคงหลงทางในการบรรลุเป้าหมายปี 2573 “ความไม่เท่าเทียม ซึ่งทำให้เกิดการระบาดของเชื้อเอชไอวี ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเพียงพอ”

รายงานระบุว่า ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนอาศัยอยู่กับเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถทำให้เกิดโรคเอดส์ได้ โดยในปีที่แล้ว มีการติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1.3 ล้านราย ลดลง 100,000 ราย เมื่อเทียบกับปี 2565 และลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 60 นับตั้งแต่การแตะระดับสูงสุดที่ 3.3 ล้านราย เมื่อปี 2538 แต่แนวโน้มระยะยาวยังคงห่างไกลจากเป้าหมายของยูเอ็นเอดส์ ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้เหลือเพียง 330,000 ราย ภายในปี 2568

การเข้าถึงยาต้านรีโทรไวรัสได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เมื่อปีที่แล้ว มีผู้ได้รับการรักษา 30.7 ล้านคน เทียบกับเพียง 7.7 ล้านคนในปี 2553 และยังไม่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 34 ล้านคน ภายในปี 2568

นอกจากนั้น ในการประชุมโรคเอดส์นานาชาติครั้งที่ 25 ที่เมืองมิวนิก ทางตอนใต้ของเยอรมนี เบียนยิมากล่าวถึง การปรับลดราคายา ซึ่งปัจจุบันคาดว่า จะอยู่ที่หลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 362,200 บาท) ให้เหลือต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,624 บาท)

แม้แอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยสถิติผู้ติดเชื้อสะสม 20.8 ล้านคน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วมีผู้ติดเชื้อ 450,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 260,000 ราย แต่ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้ามากที่สุด ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่นั่นลดลงร้อยละ 59 นับตั้งแต่ปี 2553 รายงานระบุ

ขณะที่ภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง และลาตินอเมริกา มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มากไปกว่านั้น ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ได้รับการรักษา เช่นเดียวกับในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยเบียนยิมาเตือนว่า อุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้า คือช่องว่างทางการเงินที่กว้างขึ้น

ในปี 2566 ความช่วยเหลือสำหรับเอชไอวีอยู่ที่ 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 706,660 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 5 จากปี 2565 และขาดแคลน 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 344,270 ล้านบาท)

ยูเอ็นเอดส์ย้ำว่า การตีตรา, เลือกปฏิบัติ และการถูกทำให้เป็นอาชญากร ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และส่งผลให้อัตราการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถขอความช่วยเหลือ และเข้ารับรักษาโดยปราศจากอันตราย

นอกจากนี้ เบียนยิมาวิจารณ์การกำหนดนโยบาย หรือกฎหมายที่ตอบโต้สิทธิกลุ่มเพศที่สาม, สิทธิในการเจริญพันธุ์ และความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงกฎหมายต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศที่รุนแรงในยูกันดา, ความเคลื่อนไหวเพื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรม จากการขลิบอวัยวะเพศหญิงในแกมเบีย และการเพิกถอนความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สำหรับการทำแท้งในสหรัฐ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES