เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ่อเลี้ยงปลากะพง ใน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ของนายวัลลภ ขุนเจ๋ง อายุ 59 ปี บอกว่า ตนเลี้ยงกุ้ง 520 ไร่ ต่อมาปี 2554 ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด จึงหันมาทดลองเลี้ยงปลากะพงในบ่อพื้นที่ 20 ไร่ก่อน โดยซื้อลูกพันธุ์ปลากะพงปล่อย 5,000 ตัว แล้วปิดบ่อตาย พอครบกำหนดจับปลากะพงเหลือไม่ถึง 1,000 ตัว แต่ได้ปลาหมอคางดำถึง 9 ตัน ตนจึงรู้ว่าการปล่อยปลากะพงขนาด 3-4 นิ้ว มันสู้กับปลาหมอคางดำไม่ไหว เพราะช่วงแรกที่ปล่อย ปลากะพงจะอ่อนเพลีย พวกพ่อแม่ปลาหมอคางดำที่ตัวใหญ่ ก็จะรุมเข้าใส่ กัดตัวกัดหางจนปลากะพงตาย
ต่อมาตนทดลองขุดบ่อขนาด 10 ไร่ ปรับพื้นที่ตากบ่อให้แห้งนานเกือบ 2 เดือน จึงปล่อยน้ำผ่านการกรองเข้าบ่อ เพียงครึ่งเดือนสังเกตเห็นลูกปลาหมอคางดำเต็มไปหมด ครั้งนี้ตนจึงปล่อยปลากะพงขนาด 4 นิ้ว ลงไป 1,000 ตัว พอวิดบ่อได้ปลาหมอคางดำ 7 ตัน แต่ได้ปลากะพงกลับมาไม่กี่ร้อยตัว ตนยังไม่ท้อ จึงทดลองปล่อยน้ำที่มีปลาหมอคางดำอยู่จำนวนมาก แล้วปล่อยปลากะพงขนาดใหญ่ขึ้น 7-8 นิ้ว ลงไปอีก 1,000 ตัว ช่วงแรกดีหน่อย เหมือนปลาหมอคางดำลดลง แต่หลังจากนั้น 5-6 เดือน ปลาหมอคางดำก็เต็มไปหมด ครั้งนี้เมื่อวิดบ่อขึ้นมาได้ปลาหมอคางดำ 5 ตัน ส่วนปลากะพงอยู่ครบ
นายวัลลภ กล่าวว่า จึงสรุปได้ว่าปลากะพง มันกินปลาหมอคางดำที่ใหญ่กว่าไม่ได้ และก็กินปลาที่เล็กมากๆ ไม่ได้เช่นกัน ที่กรมประมงบอกว่าปล่อยปลากะพงมากินไข่ กินลูกปลาตัวเล็กๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวผู้มันอมไข่ อมลูก แล้วปลากะพงจะกินยังไง อีกทั้งปล่อยในธรรมชาติในคลอง มีกอไม้ต้นไม้ ที่หลบซ่อนของปลาหมอคางดำเยอะ ปลากะพงก็คงเข้าไปกินลำบาก หากจะปล่อยในลำคลอง ต้องไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว จึงช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีทางที่จะกำจัดมันได้ ตนไม่เห็นด้วยที่จะปล่อยขนาด 2-3 นิ้ว
นอกจากนี้ หากปล่อยเป็นระยะๆ ที่เดียวกัน ปลากะพงตัวเล็กจะถูกปลาหมอคางดำตัวใหญ่ไล่กิน เพราะตนทดลองมาแล้ว ดังนั้นตนมองว่าการปล่อยปลากะพง มันก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ถ้าจะแก้แบบสมบูรณ์ ตนว่าไม่มีทาง และที่สำคัญนักล่าปลากะพงคือคน ถ้าปล่อยปลากะพงเยอะๆ คนก็จะจับไปกินไปขายหมด ส่วนปลาหมอคางดำก็ยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนการที่รัฐบาลรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาทนั้น นายวัลลภ บอกว่า เมื่อหลายปีมาแล้ว ที่ปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ 4 ตำบล 2 จังหวัด คือ จ.สมุทรสงคราม และ เพชรบุรี ก็มีการรับซื้อ กก.ละ 20 บาท แต่ต้องขึ้นทะเบียนประมง ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และยังจำกัดเวลารับซื้อแค่ 2 วัน บ่อหลายบ่อหลายร้อยไร่ให้จับพร้อมกันมาขาย จะเอาแรงงานที่ไหน ขึ้นปลาไม่ทัน ก็ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อ บางบ่อจับหมด พอปล่อยน้ำเข้า ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติก็เข้ามาอีก
ดังนั้นตนเห็นว่าต้องเปิดรับซื้ออย่างไม่มีข้อจำกัดเวลา ตนมองว่าการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำนั้นยาก แต่เราก็ต้องปรับตัว ซึ่งตนก็ต้องปรับตัวเป็นบ่อตกปลากะพง เลี้ยงปลากะพงขนาดใหญ่ ขณะที่ธรรมชาติยังไงก็ไม่มีทางกำจัดได้ ทำได้อย่างเดียวคือ ทำให้จำนวนให้น้อยลง อีกอย่างฝากรัฐบาลดูแล อย่าให้มีการนำเข้าปลากะพง แล้วอ้างเอามาปราบปลาหมอคางดำ เพราะจะเข้ามากดราคาปลากะพงในประเทศ จนเกษตรกรเขาอยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงไม่ต่างจากทำบ่อกุ้ง
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ปลากะพงจะกินปลาหมอคางดำเป็นตัวเลือกสุดท้าย ตนเคยทดลองปล่อยปลานิลรวมกับปลาหมอคางดำ และก็ปล่อยปลากะพงตัวขนาด 7-8 นิ้วลงไป ผลปรากฏว่าปลานิลหมดไม่เหลือ แต่ปลาหมอคางดำกลับเยอะมากขึ้น ต่อมา ก็ลงปลานิล กุ้ง ปลาหมอคางดำ และปลากะพง สุดท้าย กุ้งกับปลานิลก็หมด ไม่เหลือเช่นกัน ดังนั้นตนจึงเห็นว่าการปล่อยปลากะพงเยอะ ก็ไม่ใช่ว่าจะกินปลาหมอคางดำอย่างเดียว แต่มันจะไปกินปลาชนิดอื่นไม่เหลืออีกเช่นกัน.