เมื่อวันที่ 22 ก.ค. น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่ม 18 สื่อมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม กล่าวถึงกรณีมีข้อมูลว่า มี สว.กลุ่ม 18 ถูกจำคุกและเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2561 นั้น เรื่องนี้ถือว่าขาดคุณสมบัติการสมัคร สว. ตามลักษณะต้องห้าม 26 ข้อตามที่ กกต.กำหนด โดยมี 2 ข้อที่กำหนดว่า 1.ผู้สมัครไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และ 2.เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปี นับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
“หากเรื่องนี้เป็นจริงเท่ากับว่า สว.คนนี้ยังพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี จึงถือว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการสมัครเป็น สว. ตั้งแต่ต้น ซึ่งความจริงผู้สมัครเองน่าจะรู้ตัวและไม่ควรสมัครด้วยซ้ำไป แต่ในเมื่อได้รับเลือกแล้ว กกต. ควรสืบสวนและดำเนินการเพิกถอนออกจากตำแหน่ง” อดีตผู้สมัคร สว. กล่าว
น.ส.หทัยรัตน์ กล่าวอีกว่า เธอยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ในกฎหมายผู้สมัครที่มีลักษณะต้องห้ามนั้นตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ยังกำหนดว่า หากผู้ใดฝ่าฝืน รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก ไม่ว่าเพราะเหตุใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี ส่วนผู้รับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี
“ยังมีอีกหลายกรณีที่ กกต. ยังไม่ดำเนินการเอาผิด ทั้งที่เป็นเรื่องฉาวโฉ่อย่างกรณีของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. ที่เขียนประวัติตัวเองใน สว.3 ที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้สมัครและประชาชน จนถึงตอนนี้ กกต. ก็ยังไม่ดำเนินการเอาผิด ทั้งที่มีความผิดชัดเจน แต่กลับต้องให้ชาวเน็ตเป็นคนสืบสวนแทน ทั้งที่เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องทำการสอบสวนเมื่อพบความผิดและมีบทลงโทษตามกฎหมาย” น.ส.หทัยรัตน์ กล่าว.