ความคืบหน้าปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ขณะนี้ได้แพร่ระบาดไป 16 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว ล่าสุดนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้แถลงข่าวกรณีตรวจสอบย้อนหลังพบว่าเมื่อเดือน ธ.ค. 2553 มีบริษัทเอกชนขออนุญาตนำปลาหมอสีคางดำ 2,000 ตัว เข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ก่อนปลาจะตายและอ้างว่าได้ทำลายแล้ว และได้มีส่งตัวอย่าง “ซากปลา 50 ตัว” ที่ดองใส่ขวดให้กรมประมง แต่จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากสมุดบันทึกลงทะเบียนการลงรับข้อมูลที่นำสัตว์น้ำเข้าตามระเบียบราชการไม่พบข้อมูลการนำส่ง “ซากปลา 50 ตัว” อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่หาขวดดังกล่าวก็ไม่พบ และเมื่อเกิดการระบาดในปี 2560 เจ้าหน้าที่ กสม.ได้ไปตรวจสอบ “จุดฝังกลบทำลายปลา” ของบริษัทเอกชน พบว่ากลายเป็นสิ่งก่อสร้างทับไปแล้ว ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
ตอนนี้อยู่ไหน? แกะรอย ’50ซากปลาหมอคางดำ’ ดองไว้ในขวดปี 2560
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายปัญญา โตกทอง เครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็น 1 ในกรรมการภาคประชาชน คณะทํางานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ เกาะติดปัญหาเรื่องนี้มาตั้งแรกๆ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้สามารถตรวจสอบจากรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ได้เคยไปร้อง กสม. กรณีกรมประมง อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอสีคางดำจากต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรใน จ.สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ได้กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก จนส่งผลกระทบต่อรายได้ในการประกอบอาชีพ
นายปัญญา กล่าวว่า ต่อมากรมประมง ชี้แจง กสม. ว่า ปี 2549 ทางบริษัทเอกชนขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ตามขั้นตอนกฎหมาย เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลา โดยคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมงมีมติให้นำเข้าในปี 2553 อย่างไรก็ดีในปี 2561 กสม. สอบถามไปยังบริษัทเอกชนที่นำเข้าแล้ว มีหนังสือตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรว่าในปี 2560 ได้นำส่ง “ขวดปลา 50 ตัว” ให้กรมประมงตรวจสอบแล้ว แต่ล่าสุดกรมประมงออกมาปฏิเสธว่าไม่มี ตนก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่เรื่องนี้ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกหก ดังนั้นหากเป็นได้เสนอน่าจะนำ “เข้าเครื่องจับเท็จ” ทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าปลาจากต่างประเทศ ยังต้องมี “เอกสารการนำเข้า” บันทึก นำปลาอะไร มีพันธุกรรมหรือ DNA เป็นอย่างไรก่อนนำเข้าหรือหากปลาตาย เอกสารนี้มีหรือไม่ ถ้าไม่มีถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า ส่วนที่บอกว่ามีผู้ลักลอบนำเข้าปลาหมอสีคางดำ ต้องตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ เพราะลักษณะรูปร่างของปลาหมอสีคางดำจะไปเป็นปลาเลี้ยงสวยงามได้อย่างไร ต้องดูบันทึกการนำเข้ามาสรุปมีหรือไม่ แล้วชาวบ้านสามารถนำปลาแบบนี้เข้ามาได้ง่ายไหม ที่สำคัญไทม์ไลน์การแพร่ระบาดพบปลาหมอคางดำระบาดแรกๆ ใน ต.ยี่สาร และ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในปลายปี 2554 เริ่มมีการระบาดและระบาดมากขึ้นในปี 2555