จากกรณีปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ข้ามถิ่นมาอยู่เมืองไทย สุดท้ายมาก่อความเสียหายใหญ่หลวง เพราะปลาหมอคางดำ มีความแข็งแกร่งเป็นนักล่า อยู่ในน้ำก็กินทุกอย่าง และอยู่ได้หลายน้ำมาก น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำจืด น้ำเน่าก็อยู่ได้ ตัวเมียตัวนึงคลอดลูกเป็นไข่ประมาณ 150-300 ปีหนึ่งออกลูกเป็นล้าน จนทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะสัตว์น้ำพื้นถิ่นจะหายไปจากแหล่งน้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ในรายการโหนกระแส ออกอากาศทางช่อง 3 โดยพิธีกร “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง , กมล ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานชมรมเรืออวนลาก จ.สมุทรสาคร ต้น คนหว่านแห ล่าปลา, ปัญญา โตกทอง เครือข่ายประชาคม คนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม,นิวัติ ธัญญะชาติ คณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ระดับชาติ / เครือข่ายคนรักอ่าวไทย, บรรเจิด อุดมสมุทรหิรัญ เครือข่ายคนรักอ่าวไทย จ.สมุทรปราการ, สุเทพ ประธานชมรมธนาคารปูม้า จ.จันทบุรี และ วรพล ดวงล้อมจันทร์ เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย จ.สมุทรสาคร มาพูดคุยกันในรายการ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมประมง รวมทั้งคณะผู้ร่วมรายการ ได้พยายามหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดย “ปลาหมอคางดำ” พบว่ามีการระบาดมาตั้งแต่ปี 2554 ตามแหล่งน้ำประปราย มีภาคประชาชนเสนอให้ ประมงรับซื้อ “ปลาหมอคางดำ” กิโลกรัมละ 20 บาท แต่ชาวบ้านในพื้นที่มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน สุดท้ายเรื่องเงียบก่อนมีข่าวระบาดหนักไปถึง 16 จังหวัด โดยจุดเริ่มต้นเชื่อว่า น่าจะมาจากในพื้นที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม.
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบของปลาหมอคางดำอาจทำให้ “ราคาปูม้า” แพงขึ้นจากเดิมที่ราคา 200-300 บาท อาจพุ่งสูงถึง 2 พันบาทในอนาคต เนื่องจากปูม้าในธนาคารปูหายเกลี้ยง ต้องยุติธนาคารปูม้าทั้ง 22 แห่งในจันทบุรี ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ในปี 2560 พบร่องรอยปลาหมอคางดำอยู่ที่แม่น้ำพระแส พอปี 2563 มีการปล่อยลูกปูลงไปมากมาย แต่กลับไม่ได้ปูม้าเพิ่ม เนื่องจากมีปลาหมอคางดำเป็นล้านตัว รอกินอยู่ในลำคลอง สุดท้ายต้องผลักดันธนาคารปูม้าหรือสัตว์น้ำต่าง ๆ ไปปล่อยห่างจากทะเล
สำหรับปลาหมอคางดำ โตขนาด 2 นิ้ว ออกลูกทุก ๆ 22 วัน โดยแต่ละปี ปลาหนึ่งคู่จะออกลูกมากถึง 6 ล้านตัว ทำให้คนจับกินไม่ทัน แตกต่างจากตั๊กแตนและหอยเชอรรี่ที่เกิดช้า แต่เพราะปลาหมอคางดำ เกิดเยอะแล้วยังรอดตายตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ เพราะมีพ่อปลาคอยดูแล เมื่อเติบโตจะกินเก่ง กินไปถ่ายไป ลำไส้ยาวกว่าตัว 4 เท่า ทำให้หิวบ่อย
การแก้ไขในขณะนี้คือ การทำลายล้าง หรือล้างบาง ด้วยการจับเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ โดยกรมประมงต้องสนับสนุน ปัจจุบันนี้สนับสนุนกิโลกรัมละ 2 บาท แพซื้อ 8 บาท โรงงานซื้อ 10 บาท ต้องทำให้ราคาสูงกว่า 15 บาทเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวประมงร่วมกันจับ อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาก็คือ การลงทุนลงแรงยังคงไม่คุ้มกับการเครื่องมือประมงที่ชำรุดเพราะแค่จับ 2-3 วันก็ต้องเสียค่าซ่อมแซมหรือต้องซื้อเครื่องมือประมงใหม่มูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 บาท ทั้งที่ต้นทุนขายปลาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 10 กว่าบาทเท่านั้น
ในส่วนของประเด็นการปล่อยปลานักล่าเพื่อให้ปราบปรามเอเลี่ยนสปีชีส์ นั้น ปรากฏว่า “ปลาชะโด” อยู่ในน้ำเค็มไม่ได้ อีกทั้งปลาชะโดมีความดุร้าย อะไรขวางหน้ากัดกินหมด ทำให้สัตว์นั้นหายไปไม่ต่างจาก ปลาหมอคางดำ ขณะที่ “ปลากระพง” พบว่า ไม่ชอบเนื้อปลาหมอคางดำ แต่จะไปกินกุ้งและสัตว์อื่น ๆ แทน ทางเดียวที่จะจัดการได้คือ “คน” จัดการจับเองโดยใช้ “อวนรุน”
ที่ผ่านมาจับปลาหมอคางดำได้แล้วหลาย 100 ตัน ทำปลาป่นอาหารสัตว์ไปแล้วกว่า 400 ตัน และกำลังประสานสวนยางเพื่อเอาไปทำปุ๋ย อย่างไรก็ตามการจับปลาหน้าวัด อาจถูกคัดค้านได้ ทำให้ต้องมีการประกาศและหนังสือแจ้งสำนักพุทธ สามารถจับปลาหมอคางดำ หน้าท่าน้ำวัดได้หากพบมีการระบาด ดังนั้น ชาวพุทธควรทำความเข้าใจ..ห้ามโลกสวยเด็ดขาด.