เมื่อวันที่ 14 ก.ค.67 ที่จุดชมวิวเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง ที่มีความสวยงามของบึงน้ำสีฟ้าขนาดใหญ่ริมภูเขาและทิวป่าสน จนได้รับนิยมจากนักท่องเที่ยวจนให้สมญานามว่า “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะ ร่วมลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อร้องเรียนจากพี่น้องประชาชน ที่ต้องการให้ตรวจสอบพื้นที่หลังจากเอกชนได้ติดป้ายว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลห้ามเข้า
จากนั้นได้เข้าร่วมประชุมกับ คณะกรรมการตรวจสอบข้อพิพาทกรณีแหล่งท่องเที่ยวเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มรักษ์บ้านเกิด และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมข้อพิพาทกรณีที่ดินขุมน้ำถ้ำทองหลาง ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา ซึ่งมีประเด็นเรื่องการตรวจสอบที่ดินขุมน้ำดังกล่าว ที่ทางเอกชนได้อ้างกรรมสิทธิที่ดิน นส.3 เลขที่ 130 และ 136 ออกให้ในปี 2514 กระทั่งมีการให้ที่ดินเข้ารังวัด ที่ดิน นส.3 เลขที่ 136 เพื่อออกเอกสารสิทธิ์เป็น นส.3 ก เลขที่ 48 จำนวน 38 ไร่ 12 ตารางวา ในปี 2552 ขณะที่ทางเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงาได้แจ้งว่า ได้มีการรังวัดจนทราบว่าที่ดินเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวห่างจากจุดขุมน้ำระยะกว่า 300 เมตร ขณะที่ทางป่าไม้จังหวัดพังงา ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ เตรียมดำเนินการแจ้งผู้ประกอบการนำป้ายและรั้วลวดหนามที่กั้นไว้ออก และดำเนินคดีตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ทุกฉบับหากเอกชนได้ทำผิดกฎหมาย พร้อมเตรียมจัดตั้งป่านันทนาการ รองรับการท่องเที่ยวต่อไป
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตามที่ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบที่ดินเหมืองหินเก่าถ้ำทองหลาง ที่ถูกภาคเอกชนปิดกั้นห้ามเข้าโดยอ้างถึงกรรมสิทธิที่ดินดังกล่าวนั้น ทางจังหวัดตรวจสอบพบว่าเป็นที่ดินเขตป่าไม้ หลังจากนี้จะมีการดำเนินการให้เอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ รื้อถอนลวดหนามและสิ่งปิดกั้นต่างๆ ออกไป พร้อมกับขอให้ทางกรมป่าไม้ประกาศเป็นพื้นที่ป่านันทนาการ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวส่งเสริมการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวบ้านต่อไป ส่วนในกรณีที่เอกชนเสนอขออนุญาตทำเหมืองหินบริเวณบ้านในวังนั้น ได้มีชาวบ้านออกมาคัดค้าน พบว่าขั้นตอนการขออนุญาตยังอยู่ในระหว่างเริ่มต้น ส่วนประกาศทางสำนักงานอุตสาหกรรมเป็นเพียงประกาศเขตพื้นที่ที่สามารถทำเหมืองหินได้เท่านั้น ไม่ได้ออกใบอนุญาตในการทำเหมืองหินซึ่งทางจังหวัดและกรรมาธิการฯจะได้รวบรวมเอกสารต่างๆ เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆต่อไป.