ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล อุปสมบทนาคหลวง ให้แก่สามเณรที่สอบได้ เปรียญธรรม (ป.ธ.) 9 ประโยค จำนวน 13 รูป ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ประธานสมัชชามหาคณิสสร วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวชิราธิบดี เจ้าคณะภาค 17 เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนใต้ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพรหมวชิโรดม เจ้าคณะภาค 10 วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2567 นั้น
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี (พศจ.ปทุมธานี) ป.ธ.9 ประโยค ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดที่มา “พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง” นาคหลวง หมายถึง ผู้ที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบท นาคหลวง มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลขอเป็นนาคหลวง 2. ผู้สอบภาษาบาลี ได้ป.ธ. 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร อายุไม่เกิน 21 ปี เรียกนาคหลวงประเภทนี้ว่า “นาคหลวงสายเปรียญธรรม”
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง มีหลักฐานปรากฏ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรี และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ในพระบรมมหาราชวังสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อพุทธศักราช 2325 ครั้นถึงพุทธศักราช 2331 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับว่าทรงเป็นนาคหลวงพระองค์แรก ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นราชประเพณีที่พระบรมวงศานุวงศ์จะทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นนาคหลวง
ส่วนนาคหลวงที่เป็นข้าราชบริพาร ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ไม่ปรากฏว่ามีข้าราชบริพารผู้ใดได้รับพระราชทานพระมหากรุณา มาปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จมื่นสราภัยสฤษฎิการ (เจิม แสง-ชูโต ต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ซึ่งเป็นบุตรของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) เป็นนาคหลวงอุปสมบทต่อท้ายหม่อมเจ้านาคหลวงที่ทรงผนวช จึงได้ถือเป็นหลักเกณฑ์ต่อมาว่า ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือเป็นผู้มีเชื้อสายราชสกุล เมื่อจะอุปสมบทต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จะโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง
อนึ่ง ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สามเณรปลด กิตฺติโสภโณ (ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบพระปริยัติธรรมได้ป.ธ. 9 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดให้จัดรถม้าหลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษา จึงโปรดให้ถือเป็นราชประเพณี ว่า ถ้าสามเณรรูปใดสอบพระปริยัติธรรมได้ป.ธ. 9 ประโยค เมื่อมีอายุครบอุปสมบท จะโปรดให้เป็นนาคหลวงและจัดรถยนต์หลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษา พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง ยังปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน