สืบเนื่องจากกรณีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้ออกมาเปิดเผยกระแสข่าว ว่า “ปปง. พยายามจะยึดทรัพย์บิ๊กโจ๊ก แต่คดีที่ผมไปร้องบิ๊กต่อที่ ปปง. เงียบมาก” นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในสำนักงาน ปปง. ว่า กรณีดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ปปง. ยังไม่มีการออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เนื่องจากในรายคดีที่ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ถูกร้องเรียนว่ามีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ BNK Master นั้น ทางสำนักงาน ปปง. ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และแสวงหาข้อเท็จจริง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตรวจสอบอย่างรอบคอบว่า บุคคลที่ถูกร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องทำธุรกรรมทางการเงินเชื่อมโยงกับเว็บไซต์พนันออนไลน์จริงหรือไม่
แหล่งข่าวเผยต่อว่า สำหรับคดีมูลฐานเว็บไซต์พนันออนไลน์ BNK Master เดิมที ปปง. ได้มีการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหลักในคดีมูลฐานก่อนหน้านี้แล้ว แต่เนื่องด้วยพบว่ามีเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ดังกล่าว ได้เชื่อมโยงกับหลายบุคคล ดังนั้น ปปง. จึงยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบให้ครบถ้วน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องนำรายละเอียดพยานหลักฐานต่างๆ มาพิจารณาเปรียบเทียบข้อเท็จจริง และนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมให้มีมติในทางใดทางหนึ่งต่อไป
นอกจากนี้แหล่งข่าวยังอธิบายหลักการตรวจสอบพิสูจน์เส้นทางการเงินของบุคคลที่เชื่อมโยงกับความผิดในคดีมูลฐาน โดยเฉพาะในกรณีเว็บไซต์พนันออนไลน์ ว่า ยกตัวอย่างเช่น หากมีเว็บไซต์พนันออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของ น.ส.เอ (นามสมมุติ) แต่ปรากฏว่าในบัญชีธนาคารของผู้รับปลายทางก็มีความเคลื่อนไหวทางการเงินที่ได้รับจากการประกอบอาชีพอื่น หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปะปนอยู่ด้วย สิ่งที่เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะยึดและอายัดทรัพย์สินนั้น ปปง. ต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าเงินจำนวนนั้น เป็นเงินที่ได้รับโอนมาจากกันการกระทำความผิดมูลฐานจริง
“ความผิดมูลฐานตามกฏหมายของ ปปง. ทรัพย์สินที่ได้มาจากความผิดมูลฐาน หากมีการโอนย้ายไปยังบุคคลใด ปปง. ก็จะต้องติดตามตรวจสอบและพิจารณาสั่งยึดและอายัดกลับมา เว้นแต่คนรับโอนสุจริตเสียค่าตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อยกเว้นดังกล่าวจะเป็นเรื่องของการซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น นายเอ (นามสมมุติ) นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดียาเสพติดแล้วนำไปชำระซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคตามร้านขายสินค้า หรือห้างสรรพสินค้า หากพูดกันตามตรงเงินที่ร้านค้ารับไปจากผู้ซื้อก็ถือเป็นเงินที่มาจากการกระทำความผิดที่ ปปง. จะต้องยึดกลับมา แต่หากพิจารณาจากพฤติการณ์ จะพบว่าการรับโอนเงินดังกล่าวของร้านค้าเป็นการซื้อขายสินค้า ซึ่งหมายความว่า ผู้ขายที่รับโอนเงินไม่รู้ว่าเป็นเงินที่มาจากการกระทำความผิด ในขณะที่หากผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของนายซี (นามสมมุติ) โดยที่นายซี ไม่มีการประกอบอาชีพใด ลักษณะเช่นนี้ ปปง. จะต้องตามไปยึดและอายัด ซึ่งก็ต้องไปตรวจสอบอีกขั้นตอนด้วยว่าเงินก้อนดังกล่าวมีการถูกนำไปใช้ทำธุรกรรมแล้วหรือยัง หรือเงินยังคงค้างในบัญชีหรือไม่” แหล่งข่าวอธิบาย
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การยึดทรัพย์ กับ ความผิดทางอาญาฐานฟอกเงินนั้นเป็นคนละส่วนกัน การที่บุคคลใดถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมาย ปปง. ไม่ได้หมายความว่าต้องผิดอาญาฟอกเงินไปด้วยในทุกกรณี การจะมีความผิดอาญาฐานฟอกเงินนั้น 1.บุคคลนั้นต้องรับโอนเงินจากผู้กระทำความผิดในคดีมูลฐาน และ 2.ผู้รับโอนเงินจะต้องรู้ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน ซึ่งหากเข้าเข้าข่ายดังกล่าวก็จะถูกดำเนินคดีฐานฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดอาญา และอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการต่อไป.