นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้คลังกำลังพิจารณากระบวนการจัดการ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ให้ได้รับหนี้ หรือค่าสินไหมที่ค้างไว้ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีแนวทางชัดเจนใน 2-3 เดือนนี้ เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ อาจต้องใช้เวลามากถึง 80 ปี ถึงจะจ่ายหนี้ได้ครบทุกราย แต่รัฐบาลจะไม่ให้เจ้าหนี้รอนานขนาดนั้น โดยกำลังเร่งหาแนวทางจัดการให้กระบวนชดใช้ลูกหนี้ทำได้เร็วขึ้น โดยเรื่องนี้ เกิดมาผลกระทบช่วงโควิด ทำให้อุตสหกรรมประกันได้รับผลกระทบเสียหาย
ด้านนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า หลังเพิกถอนใบอนุญาติ สินมั่นคงประกันภัยแล้ว ได้มีการแต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว. เป็นผู้ชำระบัญชีแทน
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า ตามขั้นตอน หลังจากนี้จะเปิดให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย และเจ้าหนี้อื่น ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ส่วนจะมีการประกาศกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้เมื่อไร จะมีการแจ้งชัดเจนอีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ต่อ กปว. ต่อไป โดยตามหลักเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจาก กปว. ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ การเพิกถอนใบอนุญาตของสินมั่นคง จะทำให้กองทุนประกันวินาศภัย มีหนี้สะสมเกือบรวมเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจากนี้ กปว. จะจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และหาทางเพื่อใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจมีหลายแนวทางไม่ว่าจะเป็นออกหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุน ขณะเดียวกันอาจเสนอทางเลือกให้เจ้าหนี้เลือกรับชำระหนี้ได้หลากหลายขึ้น เช่น หากรับหนี้เต็มจำนวนจะรอนาน หรือหากรับหนี้บางส่วนจะได้รับไวขึ้น เช่น กรณีเป็นเจ้าหนี้ 1 แสนบาท หากต้องการรับหนี้เต็มจำนวน ตามขั้นตอนปกติอาจต้องรอนาน 10-20 ปี ดังนั้น หากคนที่อายุเยอะ หรือหากต้องการได้หนี้คืนเร็ว อาจจะมีทางเลือกให้ยอมรับเงินคืนบางส่วนได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ