รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท. ได้ออกประกาศรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) เรื่อง จ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีราคากลาง 28,719,940,000 ล้านบาท โดยเปิดให้ยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 20 ส.ค. 67 ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะประมูลได้ในปลายปี 67 จากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดบริการประมาณปี 70
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ไม่อยู่ระหว่างเลิกกิจการ, ไม่เป็นบุคคลอยู่ระหว่างถูกระงับการยื่นข้อเสนอ หรือทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ, ไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน, ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางรถไฟ วงเงินไม่น้อยกว่า 4,313,850,000 บาท ซึ่งต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท. เชื่อถือ และผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ต้องมีนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยเป็นผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) โดยสมาชิกทุกรายที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้านั้นต้องเป็นนิติบุคคล และมีสัดส่วนนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือมากกว่าหนึ่งรายรวมกันในการร่วมค้ามากกว่า 50% เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ถือเป็นเส้นแรกใน 7 เส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 และได้ดำเนินการเปิดประมูล โดยเส้นทางดังกล่าวมีระยะทาง 169 กิโลเมตร (กม.) ต่อจากรถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น จุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.454+000 ที่สถานีขอนแก่น และสิ้นสุดที่ กม.623+000 ที่สถานีหนองคาย ส่วนใหญ่เป็นทางระดับดิน ระยะทาง 159.5 กม. เป็นทางยกระดับ 2 แห่ง ระยะทาง 9.5 กม. มี 15 สถานี 2 ที่หยุดรถ โดยเป็นชานชาลาสูงทั้งหมด มีการก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) 3 แห่ง ที่สถานีโนนสะอาด พื้นที่ขนาด 10,500 ตารางเมตร (ตร.ม.), สถานีหนองตะไก้ 21,750 ตร.ม. และสถานีนาทา 19,000 ตร.ม.
มีการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุงเบาที่สถานีหนองคาย และยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง และก่อสร้างสะพานรถยนต์ และทางรถยนต์ลอดใต้ทางรถไฟแทน โดยโครงการนี้มีการเวนคืนพื้นที่รวมประมาณ 184 ไร่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 369 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีแรกของการเปิดให้บริการ ปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 3,300 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5,500 คนต่อวันในปีที่ 30 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าอยู่ที่ประมาณ 3.30 ล้านตันต่อปีในปีแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 4.20 ล้านตันในปีที่ 30
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มีเส้นทางเชื่อม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, อุดรธานี และหนองคาย มีสถานีและที่หยุดรถ ประกอบด้วย สถานีขอนแก่น, สถานีสำราญ, สถานีโนนพยอม, ที่หยุดรถบ้านวังชัย, สถานีน้ำพอง, สถานีห้วยเสียว, สถานีเขาสวนกวาง, สถานีโนนสะอาด, สถานีห้วยเกิ้ง, สถานีกุมภวาปี, สถานีห้วยสามพาด, สถานีหนองตะไก้, ที่หยุดรถคำกลิ้ง, สถานีหนองขอนกว้าง, สถานีอุดรธานี, สถานีนาพู่, สถานีนาทา และสถานีหนองคาย ทั้งนี้ เส้นทางดังกล่าวจะทำให้โครงข่ายทางรางของประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น และสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศจีนด้วย.