เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล “โพยก๊วนฮั้วเลือก สว.” และมีรายชื่อระดับประเทศออกมา 149 คน ว่า โพยที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งข้อมูลดิบ ที่ตนคิดว่า ทำหน้าที่ตรวจสอบการเลือก สว. เพื่ออยากให้ได้ สว. ที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ ทั้ง 20 กลุ่ม ด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม และสุจริต ตามที่ กกต. ต้องการ มาแทน สว. ชุดตนจะได้หมดห่วง และเป็นรูปแบบใหม่ของ สว. ที่เลือกกันเอง ซึ่งตนได้ข้อมูลติดตามและจะนำเข้าหารือในที่ประชุม กมธ. วันนี้ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการติดตาม ให้ได้ สว. ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่มาจากการฮั้ว ประเด็นเรื่องโพยนี้ ได้ถูกส่งไปตามกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ตน ในโซเชียล รวมถึงกลุ่มสื่อมวลชน เป็นประเด็นต่อเนื่องที่มีการร้องกันตั้งแต่ จ.สมุทรสาคร ที่ต่างอาชีพกำหนดกลุ่มผิด เช่น กลุ่มทำนาเกลือแต่ไปอยู่ในกลุ่มทำนาข้าว ว่าคนเหล่านั้นมีประสบการณ์ 10 ปีจริงหรือไม่ และยังมีอาชีพอื่น เช่น เด็กปั๊ม มาสมัครตัวแทนด้านพลังงาน หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่อบรม 12 ชั่วโมง แต่มาสมัครกลุ่มแพทย์ ที่ใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี ซึ่งหากได้รับเลือกเข้ามา จะทำหน้าที่ต่างจากอาชีพจริงหรือไม่

นายสมชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังได้รับรายงานจากบางพื้นที่ว่ามีการสมัครในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำ โดยใช้คุณสมบัติว่าเป็นกรรมการบริหารน้ำหมู่บ้าน ซึ่งทำให้มีการยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ รปภ. ที่ประจำอยู่ที่ศาล สามารถสมัครเป็นตัวแทนในกลุ่มนักกฎหมายได้หรือไม่ ตนจริงต้องออกมาทักว่ากติกาเหล่านี้ เกิดจากรัฐธรรมนูญด้วยการเลือก สว. ที่เพิ่งตรวจเจอ ว่ามีมาตราที่เป็นปัญหา ที่ทำให้สามารถจัดคนมาลง เกิดการฮั้วและบล็อกโหวตได้ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือก สว. มาตรา 40, 41 และ 42 (3) ที่เขียนบอกให้ผู้เลือกในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ เลือกตนเองก็ได้ นั่นหมายความว่าไม่เลือกก็ได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้คนที่รับจ้างเข้ามาสามารถเลือกคนอื่นได้หมด ถือเป็นการผิดเจตนารมณ์ ที่ไม่ได้เปิดให้สมัครมาเป็นผู้โหวต แต่ให้สมัครมาเป็น สว. และการที่มารณรงค์บอกว่าผู้มาสมัครกว่า 48,000 คนน้อยไป ตนคิดว่าเป็นการขัดเจตนารมณ์ เพราะจะเท่ากับเป็นการเกณฑ์คนมาเลือก และก่อนหน้านี้ยังมีการรณรงค์ “1 ครอบครัว 1 คน” ส่งมา ยอมสละคนละ 2,500 บาท เพื่อมาเป็นผู้โหวต สว. ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหน เขียนให้มาเป็นผู้โหวต สว. และส่วนตัวเคยทักท้วงหลายเดือนแล้ว แต่ กกต. ไม่เคยหยุด ออกมายับยั้ง จนทำให้มีผู้สมัคร สว. บางคนบอกว่ายอมจ่ายเงิน เพื่อต้องการมาเลือก สว. ที่ดี

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในการกำหนดกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่วางไว้ดีแล้ว แต่เห็นความผิดเพี้ยนในรายละเอียดของคุณสมบัติ ที่ตนได้รับข้อมูลมาค่อนข้างมาก เช่น มีผู้สมัครเป็นผู้นำกลุ่มสตรี อย่างน้อย 2 กลุ่ม อยู่คนละจังหวัดแต่งกายเหมือนกัน ภาพถ่ายร้านเดียวกัน แล้วยังมีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่ ที่พบว่าไปถ่ายรูปจากร้านเดียวกัน แต่อยู่คนละพื้นที่ ซึ่งหาก กกต. ไปตรวจสอบอาจเจอข้อพิรุธในลักษณะนี้ ที่มีคนส่งมาให้ตนนับพันเรื่อง ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ กกต. ระดับอำเภอจะต้องคัดกรอง ไม่ควรปล่อยให้สมัครเข้ามา เพราะการที่ผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ แล้วโกหกรับจ้างเข้ามาลงสมัคร มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิการเลือกตั้งตลอด 20 ปี รวมถึงผู้ให้การรับรองคุณสมบัติ

นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้พบ ข้อมูลว่ามีผู้สมัครบางส่วน รับรองกันเอง โดยมีภาพของการขนคนทั้งหมู่บ้าน โดยฝ่ายที่มีผลประโยชน์ จะมาฮั้วมาบล็อกโหวต ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะกฎหมายมีการเปิดช่องให้ทำได้ และถ้าพฤติกรรมเหล่านี้ ผ่านการเลือกระดับอำเภอมาสู่ระดับจังหวัด แล้วจะมีช่องสู่ระดับประเทศ เพราะไม่จำเป็นต้องเลือกตัวเองก็ได้ ซึ่งในจังหวัดที่พบว่ามีข้อพิรุธ คือ สมุทรสาคร เพชรบุรี สระบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สตูล สงขลา ซึ่งมีการร้องเรียนแต่ยังไม่เห็นปฏิกิริยา กกต. ว่ามีการตรวจสอบ

เมื่อถามว่า ส่วนที่เลขาธิการ กกต. ระบุว่าต้องตรวจสอบว่าหากใครไม่ได้เลือกตัวเอง ถือว่าเข้าข่ายฮั้วนั้น นายสมชาย กล่าวว่า จะตรวจสอบได้อย่างไร เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ถ้ารู้ก็แสดงว่าไม่ลับ และถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไปเปิดเผยผลการลงคะแนน และกฎหมายยังเปิดช่อง ให้เลือกคนอื่นได้ด้วย

“โดยสรุปรายชื่อที่ปรากฏออกมา 149 คน เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาขบวนการทั้งหมด ผมไม่เคยระบุและไม่เคยสนใจชื่อ บุคคลเหล่านั้น และไม่ตรวจด้วยว่าท่านเป็นใคร ข้อมูลนั้นจะตรงหรือไม่ตรง จะเป็นการเช็กทางสถิติ หรือเป็นการฮั้วหรือไม่ ผมตั้งคำถามให้ กกต. ได้ตอบว่าท่านตรวจสอบแล้วหรือยัง ว่ามันมีข้อบกพร่องของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือระเบียบของ กกต. หรือมีการจัด ฮั้วหรือบล็อกโหวตจริงหรือไม่ และขอฝากสื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชนตรวจสอบการเลือก สว. ครั้งนี้ และขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ละเอียด เชื่อว่าหาข่าวได้อยู่แล้ว” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็น 149 คน ที่ต้องไปตรวจสอบ ยังมีประเด็นเรื่องที่นักวิชาการได้คำนวณสถิติ สัดส่วน การลงสมัคร ว่า ร้อยละ 53 จากจำนวนผู้สมัคร กว่า 48,000 คน หรือจำนวนประมาณ 25,000 คน มาจากการรับจ้างลงสมัคร ซึ่งหากพบว่าเป็นเช่นนั้นจริง จะเข้าข่ายความผิด มีโทษถึงจำคุก ซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่า มีหนุ่มนครศรีธรรมราชคนหนึ่งรับสารภาพกับ กกต. ในพื้นที่  ซึ่งทางกฎหมาย สามารถกันเป็นพยานได้ แล้วต้องขอต่อไปโดยใช้อำนาจ มาตรา 77 ใช้ความผิดมูลฐาน (1) ในเรื่องการให้จัดให้ให้ทรัพย์สิน หรือจ้างและสาวถึงตัวบงการ เพราะสารภาพว่าถูกการเมืองท้องถิ่นให้ไปสมัคร ซึ่งใช้ พ.ร.บ.ฟอกเงินได้ โดยส่งเรื่องให้เลขาฯ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ถ้าพบว่าผิดต้องดำเนินการ และ กกต. ควรทำหน้าที่ให้ครบถ้วน อย่าเร่งให้มี สว. เพียงอย่างเดียว แล้วมาเกิดปัญหาในภายหลัง

เมื่อถามถึง กรณีที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. มองว่าอาจมีการล้มกระดาน ในการเลือก สว. ครั้งนี้ นายสมชาย ย้อนว่า “เรื่องของท่าน ไม่ใช่เรื่องของผม” พร้อมระบุว่า ส่วนตัวเชื่ออีกอย่างหนึ่ง ว่าการที่ตรวจสอบจะทำให้การเลือก สว. เป็นไปอย่างถูกต้องและไม่ล้ม แต่ถ้าปล่อยไป ให้การเลือกไปถึงขั้นสุดท้ายระดับประเทศ ตนไม่ทราบว่าใครได้รับประโยชน์ เพราะความผิดจะสำเร็จไปเรื่อยๆ และมีผู้ร่วมกระทำผิด 2 หมื่นกว่าคน ต่างกรรม ต่างวาระ เพราะรับจ้างตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน เวลารับโทษ ก็ต้องนับโทษ ตามกรรมตามวาระ หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดปัญหาชาวบ้านเป็นเหยื่อการเมือง

นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้นจึงฝากไปยังพี่น้องประชาชน ใครที่ไปรับจ้างมาลงสมัครเพื่อเลือก สว. คิดว่าเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ติดคุกแน่นอน ซึ่งกรรมาธิการทุกคณะและสื่อมวลชนต่างคอยติดตาม เมื่อถึงตรงนั้นใครก็ช่วยไม่ได้ ฝ่ายการเมืองก็ช่วยไม่ได้ ดังนั้นขอให้แจ้งไปยัง กกต.ในพื้นที่ กกต.กลาง หรือสื่อ โดยให้ กกต. ใช้มาตรา 65 กันไว้เป็นพยาน และให้ กกต. ตรวจสอบ เพื่อให้ผลออกมาได้ สว. ที่มีคุณภาพ ตรงไป ตรงมา ไม่ต้องคิดว่าจะไปยื้ออะไร เพราะทำได้ไม่เยอะ แต่ขอให้ทำอย่างถูกต้องดีกว่า.