หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกลุ่ม 40 สว. กรณีการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

แม้แต่ตัวนายกฯเศรษฐา เองก็ยอมรับเพราะมีบรรดานักลงทุนได้สอบถามเข้ามาไม่น้อย ด้วยเพราะที่ผ่านมาได้เดินหน้าเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ในหลาย ๆ ประเทศ

รวมทั้งยังมีเรื่องของการประกาศแผนขับเคลื่อนประเทศไทย หรือ Ignite Thailand ทั้ง 8 ด้าน เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ที่รัฐบาลได้ประกาศก่อนไปหน้านี้

ด้วยความที่ว่า… หากการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญของ นายกฯเศรษฐา ที่จะถึงกำหนดในปลายสัปดาห์นี้ (7 มิ.ย.67) ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี อะไร ๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้

แต่!!ถ้าทุกอย่าง “ตรงกันข้าม” สารพัดปัญหาย่อมเกิดตามมาแน่นอน โดยเฉพาะ… ใคร? ที่จะเข้ามาแทนนายกฯเศรษฐา เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยที่อยู่ในภาวะ “อ่อนแอ” ให้เดินหน้าได้ต่อไป

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลของนายเศรษฐา กำลังเผชิญแรงกดดันมากมาย โดยเฉพาะแรงกดดันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ แรงกดดันที่มีผลต่อฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ต้องยอมรับว่า…ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยยังขาด “แรงส่ง” เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้โดยไม่สะดุด แม้นายกฯเศรษฐา จะเรียกประชุมครม.เศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ได้มีมาตรการอะไรที่ชัดเจนเพื่อกระชากเศรษฐกิจ

ด้วยเพราะต้องเปิดเวทีให้ครม.เศรษฐกิจ ทุกคนเห็นปัญหา เห็นสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นครม.หลายพรรค จึงต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ชัดเจนก่อนว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเศรษฐกิจไปในทิศทางใด

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เลือกวิธีปรับแผนการคลังระยะปานกลางปี 68-71 เป็นครั้งที่ 2 เพื่อรองรับการตั้งงบฯกลางปี 67 เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มการกู้ขาดดุลอีก 1.12 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังเพิ่มการจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ปรับแผนการคลังไปแล้ว หลังจากได้ตัดสินใจเพื่อเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 68 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งงบประมาณขาดดุลไว้ที่ 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นการขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท

การปรับแผนการคลังระยะปานกลางทั้ง 2 ครั้งนี้… เหตุผลสำคัญก็เพื่อจัดหาเงินงบประมาณมารองรับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท

แต่การปรับแผนการคลังฯ ได้ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นเรื่อย ๆโดยในปี 71 หนี้สาธารณะไทยจะแตะระดับสูงถึง 68 % ทีเดียว นั่นหมายความว่า…รัฐบาลจะเหลือพื้นที่ทางการคลังเพียงแค่ 2% หากวัดจากเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ไม่เกิน 70%

หากระหว่างนี้ หรือหลังจากนั้น ไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบมหันตภัย หรืออย่างรุนแรง ฐานะการคลังของไทยก็พอกล้อมแกล้ม เดินหน้าต่อไปได้

แต่!! ถ้าเกิดอะไรใหญ่โต ขึ้นมา นั่นก็หมายความว่า ฐานะการคลังอยู่ในภาวะ “เสี่ยง” ที่ไม่เพียงพอที่จะรับมือหากเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง

ทุกวันนี้ โลกยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ราบรื่นหรือสดใส ทั้งในเรื่องของสงครามการค้า ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังไม่เห็นชัดเจนว่าจะสงบศึกแบบ 100% ได้เมื่อใด

แม้การเพิ่มการขาดดุลทั้ง 2 ปีงบประมาณ รัฐบาลมองว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลงไปเอง เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แต่…ในการปรับแผนการคลังครั้งที่ 2 นี้รัฐบาลก็ได้ปรับลดการคาดการณ์จีดีพีลงไปด้วยเช่นกัน

โดยปี 67 คาดการณ์เดิมอยู่ที่ 2.7% ลดลงเหลือ 2.5% ขณะที่ปี 68 เดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3% ส่วนปี 69-71 เดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.2% และในปี 71-72 เดิมอยู่ที่ 3.2% ลดลงเหลือ 3%

นั่นหมายความว่า…จีดีพีจะโตไม่ถึง 5% อย่างที่พรรคเพื่อไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะทำให้เศรษฐกิจโตให้ได้ที่ 5% !!

ท่ามกลางแรงกดดันสารพัด คงต้องมารอดูกันต่อไปว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไร? โดยเฉพาะผลการชี้แจงของนายกฯเศรษฐา และผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่