นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. รับทราบในหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติการณ์ของระบบสถาบันการเงิน โดยจะมีการตัดเงื่อนไขสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออก พร้อมทั้งให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) ผู้รับสัมปทานวางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) 2 ส่วน วงเงินรวมประมาณ 1.28 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงินประมาณ 9 พันล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) วงเงิน 1.19 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการการันตีว่าเอกชนจะเดินหน้าโครงการนี้ และไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จากการจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า จากเดิมรัฐจะจ่ายค่าก่อสร้างให้เอกชนเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่การเจรจากับเอกชนครั้งนี้ เอกชนขอให้รัฐจ่ายค่าก่อสร้างเร็วขึ้น โดยได้ข้อสรุปจ่ายเงินอุดหนุนงวดที่ 1 ในเดือนที่ 18 นับจากวันที่ รฟท. ออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ขณะที่ค่าสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังคงต้องจ่าย 7 งวดตามเดิม โดยเริ่มจ่ายงวดที่ 1 ในปี 67 เป็นงวดแรก อย่างไรก็ตาม หลักประกันทางการเงินประมาณ 1.29 แสนล้านบาท ทางเอกชนจะต้องส่งมาให้ รฟท. ภายใน 270 วันหลังจากลงนามสัญญาแล้วเสร็จ

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ รฟท. จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการบริหารสัญญา และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อเห็นชอบในหลักการ ก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขสัญญา และเสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายกำลังเร่งรัดการดำเนินงานในทุกขั้นตอน เพื่อให้เดินหน้าโครงการฯ นี้ต่อไปได้ ซึ่งเบื้องต้นหากมีการลงนามสัญญาฉบับใหม่ ทาง รฟท. ก็พร้อมออก NTP ให้เอกชนทันที คาดว่าภายในปี 67 จะสามารถออก NTP ให้เริ่มก่อสร้างได้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 72

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการก่อสร้างสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งมีช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จากบริเวณวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมือง ระยะทางประมาณ 10 กม. ยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม ที่เอกชนจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วมให้ แต่ในส่วนของทางวิ่ง รฟท. จะต้องเสนอขอวงเงินเพิ่มประมาณ 4 พันล้านบาท ส่วนงานวางรางรถไฟจะดำเนินการในส่วนของสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายจีน.