นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนแรกปี 67 (ม.ค.-มี.ค. 67) ปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยาน 6 แห่งภายใต้การดูแลของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทกภ.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.), ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ประมาณ 32.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 19.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 42.53% และผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 12.4 ล้านคน ลดลง 0.40%
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินภาพรวม 6 สนามบินอยู่ที่ 1.88 แสนเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15.34% แบ่งเป็น เที่ยวบินระหว่างประเทศ 1.07 แสนเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35.67% และเที่ยวบินภายในประเทศ 8.14 หมื่นเที่ยวบิน ลดลง 3.68% ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินสูงที่สุด โดยผู้โดยสารอยู่ที่16.06 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.52% และมีเที่ยวบินสูงสุด 8.7 หมื่นเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 18.61% ซึ่งปัจจุบัน ทอท. มีแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถของ ทสภ. โดยอยู่ระหว่างการทบทวนแผนแม่บทพัฒนา ทสภ. คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 68 ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ทอท. ควรจะลงทุนโครงการใดบ้าง เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุด ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ในระหว่างนี้ สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ ทสภ. ในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคาได้ไม่เกินเดือน ส.ค. 67 และก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดบริการประมาณปี 70 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 100% และได้ทำการบินทดสอบตลอดจนผ่านการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัท วิทยุการบิน จำกัด (บวท.) แล้ว อยู่ระหว่างเก็บความเรียบร้อยของระบบงานไฟฟ้าสนามบิน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 15 ก.ย. 67
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า เมื่อเปิดให้บริการรันเวย์ เส้นที่ 3 จะทำให้ ทสภ. สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 94 เที่ยวบินต่อ ชม. โดยเครื่องบินจะไม่ต้องบินวนบนน่านฟ้าเพื่อรอลงจอดที่ ทสภ. เพราะรันเวย์เต็ม และสามารถรองรับปริมาณจราจรในกรณีที่มีการปิดซ่อมรันเวย์เส้นที่ 1 และเส้นที่ 2 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ทสภ. มีการบริหารจัดการพื้นที่ต่อผู้โดยสารได้ดีมากยิ่งขึ้นภายหลังจากเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งขณะนี้มีสายการบินมาให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20 สายการบิน 141 เที่ยวบินต่อวัน โดยมีเป้าหมายปี 67 ประมาณ 200 เที่ยวบินต่อวัน
นายกีรติ กล่าวอีกว่า คาดว่าภาพรวมปริมาณผู้โดยสารครึ่งปีหลังของปี 67 ผู้โดยสาร 6 สนามบินจะกลับมาเท่ากับปกติในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 ประมาณ 140 ล้านคน/ปี ทั้งนี้ ภาพรวมผู้โดยสารในปี 66 อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านคน คิดเป็น 85% ของปี 62 ซึ่งไตรมาส 1 ปี 67(ม.ค.-มี.ค. 67) ทอท. มีรายได้รวม 15,707 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท.