“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคม และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับแจ้งเบื้องต้นจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานพระราม 9 ว่า ทศมราชัน อ่านว่า ทด-สะ-มะ-รา-ชัน (Thotsamarachan) หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 ตามที่กระทรวงคมนาคม และ กทพ. ได้ขอพระราชทานชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 หลังจากนี้ ต้องรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากสำนักพระราชวังอีกครั้ง
สำหรับสะพานทศมราชัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ที่อยู่ในงานก่อสร้างสัญญาที่ 4 สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของ กทพ. (วงเงินทั้งโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) มีบริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 4 วงเงิน 6,636 ล้านบาท ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของโครงการฯ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่เดือน เม.ย. 66 แต่ยังไม่เปิดสะพาน เนื่องจากต้องรอการก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ของสัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ให้แล้วเสร็จก่อน ปัจจุบันทางขึ้น-ลงคืบหน้ากว่า 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย. 67
กทพ. จะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเปิดสะพานทศมราชัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุครบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 67 ซึ่งต้องรอโปรดเกล้าฯ จากนั้นจะจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งครั้งประวัติศาสตร์บนสะพานทศมราชัน รวมทั้งกำหนดให้ประชาชนได้ใช้บริการสะพานทศมราชันขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 67 (ก.ค.-ก.ย. 67) ก่อนเปิดบริการตลอดทั้งโครงการทางด่วนสายพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ประมาณกลางปี 68 ซึ่งปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 75.93% เร็วกว่าแผน 1.83%
สะพานทศมราชันออกแบบสอดคล้องกับความสวยงามของสะพานพระราม 9 มีความสูงใกล้เคียงกัน ประมาณ 130 เมตร จากพื้นดินถึงยอดเสา มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 8 ช่องจราจร เป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย 42 เมตร ความยาวช่วงกลางสะพาน (Mid Span) 450 เมตร และมีความยาวสะพาน 780 เมตร ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ เชื่อมกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีระยะทางรวมประมาณ 2 กม. สิ้นสุดโครงการฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ เชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช
องค์ประกอบต่างๆ ของสะพานออกแบบสื่อถึงพระองค์ท่าน อาทิ ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ แสดงถึงความโอบอุ้ม ปกป้อง ให้ความรัก ความห่วงใยต่อพสกนิกรชาวไทย, ตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 10 หมายถึง พระประมุขแห่งแผ่นดินไทย สายเคเบิลสีเหลือง สื่อถึงวันพระราชสมภพ คือวันจันทร์, พญานาค สื่อถึงราศีประจำปีพระราชสมภพของรัชกาลที่ 10 และรั้วสะพานกันกระโดดออกแบบสื่อให้เป็นต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ ได้ตกแต่งไฟประดับสะพานด้วยระบบไฟ LED หลากหลายสีจะเปิดไฟประดับช่วงเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมชมทัศนียภาพความงดงามของบรรยากาศสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และส่งเสริมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ สะพานทศมราชัน จะรองรับปริมาณการจราจรได้วันละ 1.5 แสนคันต่อวัน ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 ที่มีความแออัด 100,470 คันต่อวัน ลดเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลง 25% เชื่อมต่อโครงการมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวง (ทล.) ช่วยให้การเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และชั้นในของกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก มุ่งสู่ภาคใต้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น.