นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6-15 พ.ค. 67 ตนพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือด้านการคมนาคมขนส่งกับหน่วยงานภาครัฐของจีน อาทิ การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee : JC) ครั้งที่ 31 ในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งจะเป็นการประชุมคณะใหญ่ที่มีทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายจีนเข้าร่วมการประชุม เบื้องต้นจะเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และกระทรวงคมนาคมได้พยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ตามแผน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจะพูดคุยถึงการเตรียมดำเนินโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว รวมทั้งรัฐบาลมีเป้าหมายเร่งผลักดันโครงข่ายรถไฟสายนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและจีน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่เดินทางไปจีนครั้งนี้ จะพบปะกับนักลงทุนจีน เพื่อประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งการเดินทางมาจีนครั้งนี้ จะถือเป็นเวทีสุดท้ายของการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคม จะเริ่มกระบวนการจัดทำเอกสารเชิญชวนการลงทุนตามเป้าหมาย โดยภายหลังโรดโชว์แล้วเสร็จ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 67 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 68 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 69 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 69 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 69 เพื่อเปิดให้บริการในปี 73

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในวันที่ 9 พ.ค. 67 จะประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง และเยี่ยมชมท่าอากาศยานนานาชาติกรุงปักกิ่ง ก่อนจะเดินทางต่อไปยังนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเยี่ยมชมระบบการบริหารจัดการรถบรรทุก พร้อมทั้งเยี่ยมชมท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Port) รวมถึงประชุมหารือกับผู้บริหารสถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ และเยี่ยมชมระบบควบคุมการจราจรด้านระบบราง เพื่อนำข้อมูลแนวทางการดำเนินการต่างๆ มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับการคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อไป

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า การเดินทางไปประชุม JC ครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการเดินทางมาร่วมการประชุม เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ฝ่ายไทยและจีน ไม่ได้เดินทาง เพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล Video Conference อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มี 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าการก่อสร้างประมาณ 32.31% ล่าช้าประมาณ 28.76% กระทรวงคมนาคมยังคงมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 71

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงินประมาณ 3.41 แสนล้านบาท ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท. แล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม ภายในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป โดยมีเป้าหมายเริ่มก่อสร้างในปี 67 แล้วเสร็จในปี 73 และพร้อมเปิดให้บริการในปี 74.