นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่า ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลค่าโดยสารของสายการบินต่างๆ ของวันที่ 12 เม.ย. 67 ซึ่งคาดการณ์ว่า ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นวันแรก โดยทุกสายการบินได้รายงานสัดส่วนการจำหน่ายราคาบัตรโดยสารในแต่ละระดับราคา ใน 3 เส้นทางยอดนิยมในการเดินทางของประชาชน ได้แก่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-กระบี่ ทั้งนี้พบว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีค่าโดยสารส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระหว่าง 2,501-3,000 บาท มีค่าโดยสารเฉลี่ย 2,611 บาท/เที่ยวบิน
ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีค่าโดยสารส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระหว่าง 2,001-2,500 บาท มีค่าโดยสารเฉลี่ย 2,346 บาท/เที่ยวบิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ มีค่าโดยสารส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระหว่าง 2,501-3,000 บาท มีค่าโดยสารเฉลี่ย 2,797 บาท/เที่ยวบิน อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบราคาบัตรโดยสารช่วงเทศกาลสงกรานต์ กับช่วงเทศกาลปีใหม่ของสายการบินที่ให้บริการแบบต้นทุนต่ำ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 66 เทียบกับวันที่ 12 เม.ย. 67 ใน 3 เส้นทางการเดินทางยอดนิยมของประชาชนช่วงเทศกาลพบว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต มีค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 284 บาท/เที่ยว หรือลดลง 9.8% ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 383 บาท/เที่ยว หรือลดลง 14% และเส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ มีค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 111 บาท/เที่ยว หรือลดลง 3.8%
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และเพิ่มช่องทางการกระจายข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว อาทิ การแนะนำให้ผู้โดยสารเลือกซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้า รวมทั้งเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินในหลายช่องทาง เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มการสื่อสาร และสร้างเครือข่ายในสังคมออนไลน์เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในการเดินทางให้ได้ตั๋วเครื่องบินในราคาที่เหมาะสม ตรวจสอบการกำหนดราคาบัตรโดยสารภายในประเทศของทุกสายการบิน ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอ และเพิ่มการตรวจสอบค่าโดยสาร ณ จุดจำหน่ายที่สนามบินในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยหากประชาชนพบเห็นการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเกินเพดานราคา สามารถแจ้งหลักฐานได้ที่ https://portal.caat.or.th/complaint/
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. และวันที่ 15-16 เม.ย.67 ทาง 6 สายการบินที่ให้บริการในเส้นทางการบินภายในประเทศ ประกอบด้วย สายการบินไทย สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ได้จัดโปรโมชั่นตั๋วราคาพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาตั๋วเครื่องบินแพง โดยได้จัดสรรตารางเวลาการบินของสนามบิน และการขออนุญาตทำการบิน มีจำนวนเที่ยวบินพิเศษเพิ่มขึ้น 104 เที่ยวบิน มีจำนวนที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 17,874 ที่นั่ง ซึ่งจะทำการบินไปยังสนามบินหลักให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย อุบลราชธานี อุดรธานี และขอนแก่น.