เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า ตนพบว่าทุกวันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบปัญหาเฉพาะหน้ารอได้ ปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก รัฐบาลขยันแถลงผลงานอย่างมาก โดยมีการแถลงผลงานตั้งแต่ 2 เดือนแรก ต่อด้วยผลงาน 3 เดือน หลายเรื่องถือว่าทำได้อย่างรวดเร็ว แต่หลายโครงการยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าขับเคลื่อน ส่งเสริม เร่งรัด ยังไม่ได้มีผลเป็นรูปธรรม แต่ก็ได้เอามาบรรจุเป็นผลงานไว้ หลายเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยจนงงว่าเอามาเคลมเป็นผลงานได้ด้วยหรือ เช่น การขยายเวลาเปิดสนามบินเชียงใหม่เป็น 24 ชม. เป็นต้น ซึ่งระยะเวลาจาก 3 เดือนมา 6 เดือนกลับกลายเป็นว่าผลงานที่เพิ่มขึ้นมามีน้อยมากเหลือเกิน หลาย ๆ เรื่องเลิกพูดไปเลยและโดนตัดทิ้ง เช่น การขยายโอกาส ซอฟต์พาวเวอร์ แลนด์บริดจ์โดนตัดทิ้งไปแล้ว ไม่ทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้น แบบนี้เป็นเพราะว่านายกฯ เป็นนายกฯ แบบพาร์ตไทม์หรือไม่ ส่วนหนึ่งของเวลาเอาไปใช้ในการเป็นเซลส์แมนของประเทศหรือไม่ เลยทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟูลไทม์ ผลงานรอบ 6 เดือนถึงมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาน้อยเหลือเกินและสิ่งที่พวกเราเฝ้ารอ คือเรื่องของการฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจให้มันดีขึ้น เรากลับไม่เห็นเลย
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวยังกล่าวถึงปัญหารายได้เกษตรและราคาพืชผลทางการเกษตร ว่า รายได้เกษตรกรติดลบเป็นเดือนที่ 4 แล้ว ไม่ว่าจะทำราคาให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีผลผลิตที่จะขายก็ไม่ได้เงิน เป็นสัญญาณอันตรายที่กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง ต้องมีการช่วยเหลือเพื่อพยุงกำลังซื้อของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยในระดับรากฐาน เพราะไม่ใช่แค่รายได้เกษตรกรที่ติดลบ แต่ตัวชี้วัดอื่นๆ เช่น ยอดการซื้อมอเตอร์ไซค์ ยอดการจดทะเบียนจักรยานยนต์ใหม่ของปี 67 โดยเฉพาะเดือน ก.พ. ติดลบไปแล้ว 10% ส่วนยอดซื้อรถปิกอัพจดทะเบียนใหม่ หดตัวลงเดือนนี้ 36 % ซึ่งเป็นปัญหาเพราะว่ารถปิกอัพคือการลงทุนของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่จะต้องใช้ปิกอัพในการขนส่ง ท่านอาจจะบอกว่ากำลังซื้อกำลังตกเหมาะสำหรับการทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่ 30 บาท ที่จะรักษาทุกโรคได้ การพยุงกำลังซื้อแบบนี้ควรจะต้องทำตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้า ไม่ใช่เพิ่งมาทำ หรือไปทำในอีก 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นคำถามของตนก็คือภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ในเมื่องบประมาณก็ออกมาแล้ว เราจะได้เห็นมาตรการอะไรที่จะช่วยพยุงกำลังซื้อในระยะสั้นของประชาชนหรือเศรษฐกิจฐานรากหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาในด้านเศรษฐกิจมากแค่ไหน ตนก็ต้องบอกว่าอย่างน้อยเราก็โชคดีที่อย่างน้อยตอนนี้ประเทศเราไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้รัฐบาลเลิกพูดแล้วว่าประเทศกำลังเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ เพราะต้องบอกว่าที่เราผ่านพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ไม่ได้เกิดจากพระสยามเทวาธิราชปกป้องคุ้มครองเรา หรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใด แต่มาจากหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อว่า ป.ป.ช. เป็นผู้ที่มาแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจให้กับเรา โดยการที่ออกรายงานมาฉบับหนึ่ง เพื่อเป่ากระหม่อมบอกว่าไม่มีวิกฤติ แล้วจากนั้นรัฐบาลก็เลิกพูดว่ามีวิกฤติเศรษฐกิจทันที เพราะที่ผ่านมาการประโคมข่าวร้ายว่าประเทศกำลังวิกฤติ ๆ มันก็เป็นเพียงเพื่อจะได้ใช้กลไกพิเศษในการกู้เงินเท่านั้นเอง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้นเราจะพูดถึงวิกฤติโดยที่ไม่พูดถึงเรื่องที่เป็นหัวใจของปัญหานี้ไม่ได้ นั่นก็คือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ล่าสุดมีความคืบหน้ามา ตอนแรกตนคิดว่าในเวทีการอภิปราย ม.152 จะไม่ได้พูดเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไปเสียแล้ว แต่ว่าในที่สุดมันก็มา และครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โครงการนี้มีปัญหาในเรื่องรายละเอียดมาโดยตลอด และสร้างความสับสน รัฐบาลยิ่งแถลงก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ถึง 5 ครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน เพราะก่อนเลือกตั้งบอกว่าจะใช้งบประมาณปี 67 แต่พอมาเป็นรัฐบาลก็พอบอกว่างบประมาณ 67 ไม่พอ ท่านก็เลยเปลี่ยนจะไปกู้ออมสิน แต่กฤษฎีกาได้มาห้ามบอกว่ากู้ไม่ได้ มันผิด พ.ร.บ.ออมสิน ในเรื่องวัตถุประสงค์ ไม่ใช่ตนเป็นคนพูดว่าทำไม่ได้ ต่อมาท่านก็มีแนวคิดไอเดียว่าจะใช้งบผูกพันปี 67-68 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาบอกว่ามันผิด พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมากองไว้ข้างหน้าก่อน ต่อมาเปลี่ยนรอบที่ 3 นายกฯ แถลงเองบอกว่าจะใช้ทั้งงบประมาณ และพ.ร.บ.เงินกู้ แต่พอเราไปดูในร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 แล้วก็ปรากฏว่าไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็เลยมีการเปลี่ยนรอบที่ 4 บอกว่าไม่เอาแล้วงบ 67 เราจะกู้ทั้ง 100% แต่ก็โดนสกัดตัดขาโดย ป.ป.ช. ตนพูดมาตั้งนานไม่มีใครสนใจ แต่ ป.ป.ช.พูดทีเดียวก็ยอมหยุดเลย เพราะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ดังนั้นรอบนี้จึงมีความน่าตื่นเต้นน่าสนใจ เพราะเป็นครั้งที่ 5 และเราต้องลุ้นว่าจะมีครั้งที่ 6 หรือไม่ ครั้งนี้น่าจะมีการใช้แหล่งเงินจาก 3 แหล่ง ด้วยกัน คือ งบกลางปี 67 เบ่งงบปี 68 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และแหล่งที่ 3 คือการกู้จาก ธ.ก.ส. และช่างเป็นกลวิธีที่พิสดาร แต่ว่าในเรื่องอื่นๆ ก็มีการเปลี่ยนไม่หยุดเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนคนผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งปรับให้ลดลง ก็ดีแล้ว และมีเรื่องของวันเริ่มโครงการ ที่เลื่อนเป็นไตรมาส 4 ของปี 67 ความสับสนอลหม่านแบบนี้ ตนก็ต้องบอกว่าแม้แต่กองเชียร์เองก็ยังเหนื่อยที่จะแบกเลย สำหรับแอปพลิเคชันเปิดฉากอย่างเร้าใจว่าเป็นซูเปอร์แอป และใช้บล็อกเชน ต่อมาบอกไม่เอาแล้ว ขอเป็นเป๋าตัง ทุกวันนี้ได้ข่าวว่ากรุงไทยบอกว่าไม่ทำก็เลยจะต้องมีแอปเป็นของตัวเอง โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล เป็นผู้จัดทำ ซึ่งต้องทำระบบใหม่ตั้งแต่เริ่มตน ซึ่งตนก็ต้องขอเอาใจช่วยว่าระบบนี้มันจะเสร็จสิ้นทันในไตรมาส 4 ของปี 67 หรือไม่ แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่เสร็จก็เลื่อนได้อีก
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า มาดูกันว่ามันออกทะเลไปได้ไกลอีกแค่ไหนสำหรับที่มาของเงิน ซึ่งตนได้เคยทำนายไว้แล้วว่าแหล่งที่มามีไม่กี่แหล่ง เนื่องจากตัวเลือกน้อย ก็เลยทายถูกได้ง่าย สุดท้ายแล้วมันก็จะออกมาจากงบกลางปี 67 เบ่งงบปี 68 และกู้ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้มีการทบทวนกรอบการคลังระยะปานกลางโดยให้เพิ่มงบปี 68 เป็น 3.75 ล้านล้านบาท โดยจะกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งตรงกับสมมุติฐานที่เราตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะมีการเบ่งงบปี 68 เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ว่าตอนแรกตนติดคิดว่าน่าจะเบ่งงบปี 68 เยอะกว่านี้ และคิดว่าน่าจะมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นด้วย เพราะดูแล้วยังไม่น่าจะพอเท่าไร ต่อมางบกลางปี 67 ซึ่งรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรือเราเรียกกันติดปากว่างบกลางปีขึ้นมาได้ โดยการกู้เพิ่ม โดยการกู้ชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดาน ซึ่งที่ว่างเหลืออยู่ไม่มากแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า แต่ถ้าท่านจะเอามาทำอันนี้ก่อนก็ได้ ตอนนี้ก็จะกู้ได้เต็มเพดานอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยมีทริกคือเอาไปใส่ไว้ในกองทุนต่างๆ ของรัฐบาล โดยไม่ต้องส่งคืนคลัง ซึ่งน่าจะเป็นกองทุนประชารัฐ เพื่อสวัสดิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าต้องให้คนที่มีฐานะยากจน มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ มีการคัดกรองต่างๆ ซึ่งมีคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ดังนั้นตนก็เลยตั้งสมมุติฐานต่อว่าถ้ากู้มาแค่ 1 แสนล้านมันก็ไม่พอแจกสำหรับคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็อาจจะต้องไปเอามาจากงบกลางอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาทหรือไม่ ถ้าตนอธิบายผิดสามารถแก้ได้เลย เพราะตนก็รอให้ท่านชี้แจง เพราะตนก็ใจร้อนทนถึง 10 เม.ย. ไม่ไหว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาคือว่ามันมีแค่ 14 ล้านคน และต้องใช้เงินตรงนี้ไปได้ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มันก็เลยยังมีส่วนที่ยังขาดอยู่ ค่อนข้างเยอะ ตนก็เลยนำมาอยูในหมวดหมู่ที่ 3 คือการกู้ ธ.ก.ส. วิธีการก็คือให้ ธ.ก.ส.ดำเนินนโยบายแทนรัฐบาลตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เรียกง่ายๆ คือกู้เงินของ ธ.ก.ส.มาใช้ก่อนและใช้คืนทีหลัง แต่วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของ ธ.ก.ส.ก็พูดไว้ชัดเจนว่าให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างผลผลิตและลดต้นทุนของเกษตรกรเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องมีการตีความกันอย่างตีลังกาตีความว่าตกลง ธ.ก.ส.จะสามารถแจกเงินดิจิทัลฯ เพื่อเกษตรกรได้หรือไม่ และต้องไม่เป็นในลักษณะของครัวเรือนด้วย ซึ่ง ธ.ก.ส.จ่ายเงินบนพื้นฐานของข้อมูลเกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณแค่ 8 ล้านคน แต่ทางที่ดีเราอาจจำเป็นต้องแจกเงินให้เกษตรกรมากกว่า 8 คน ซึ่งอาจจะรวมครัวเรือนของเกษตรกรมาด้วยหรือไม่ ซึ่งรอคำตอบว่าตนจะเดาผิดหรือไม่อย่างไร ในเรื่องนี้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ต้องบอกว่ามันก็เป็นความพยายามที่เรียกได้ว่าเลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างกลับไปเริ่มที่ศูนย์ใหม่เรื่อยๆ วันนี้เรากำลังออกทะเลกันไปไกลแล้ว เพราะว่ามูลค่า 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นตอนนี้ มันก็เกิดขึ้นมาจากการกู้ ๆ แล้วก็กู้อยู่ดี เพียงแต่ว่ามันเป็นการกู้ที่อาจจะสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ ที่ยังเป็นกังวลกันอยู่คือเรื่องตัวระบบด้วยเช่นกัน แต่ดิฉันก็คิดว่ามันยังพอมีเวลาที่ท่านจะไปสะสางปัญหาเรื่องเกี่ยวกับระบบว่าจะโอนอย่างไร เพราะว่าเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ต้องใช้เฉพาะผ่านบัตรประชาชน จะมาโอนต่างแบงก์ต่างธุรกรรมไม่ได้ มันต้องมีเครื่องอ่านสำหรับของบัตรประชาชนโดยเฉพาะ เป็นต้น ต้องยอมรับว่ามันค่อนข้างเละเทะ จากการที่จะต้องเปลี่ยนแหล่งเงินไปมา 5 ครั้ง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ ทำให้ชวนคิดว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงๆ หรือไม่ เรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคลังมันทำให้ตนตกใจ ว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายในลักษณะแบบนี้ออกมาได้
“ยิ่งมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาขนาดนี้ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เริ่มต้น ท่านก็เลยต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ แก้ไปทีละวันๆ แบบนี้ เมื่อมีการสัญญาแล้วว่าโครงการจะเริ่มตอนนั้นตอนนี้ แต่สุดท้ายหากไม่ได้เป็นไปตามนั้น ดิฉันคิดว่ามันก็เกิดความเสียหายเพราะว่าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจหรือพายุหมุนที่ท่านอยากให้มันเกิดขึ้น มันก็จะไม่เกิดเอา เพราะว่ามันต้องได้รับความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้บริโภค ที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้าเปลี่ยนเยอะ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่เสถียร มีโอกาสที่จะหายหรือเงินตกหล่นมันก็ทำให้คนอาจจะไม่เชื่อมั่นก็เป็นไปได้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาให้ระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ในฐานะที่ท่านได้อาสาบอกว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน แต่ว่าทำไปได้ไม่กี่นโยบายตอนนี้ก็นิ่งสนิท งบกลางก็ไม่มีออก งบกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี แล้วยังต้องให้ประชาชนรอไปอีกถึงไตรมาส 4 ของปี 67 โดยที่ยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว.