ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวถึงกรณีที่มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมจัดตั้งเป็นรพ.สนามรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอว. ว่า ยอมรับว่าช่วงแรกยังมีผู้ป่วยไม่มาก แต่พอผ่านไประยะเวลาหนึ่งพอมีคนติดเชื้อมากและรพ.หลักไม่สามารถรองรับได้ จึงมีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่ม ที่ผ่านมาหาสถานที่เพื่อรองรับคนป่วยไม่ง่ายเลย ต้องมีการพูดถึงกับทางรพ.รามาธิบดีเพื่อวางระบบให้ เมื่อพร้อมแล้วเราได้หอพักนักศึกษาและหอประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีทำรพ.สนาม ถือว่าเป็นความยินดีที่เราได้ร่วมกับ อว.แก้ปัญหาสถานการณ์โรคระบาดของประเทศ
ผศ.ดร.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯร่วมตั้งเป็นรพ.สนาม สิ่งที่ประสบพบเจอคือผู้ป่วยที่มาใช้บริการของรพ.สนามต่างจังหวัดมีหลายกลุ่มหลายประเภทจึงต้องมีการดูแลประสานงานที่ดี โดยระบบรพ.สนามต้องทำงานคู่รพ.หลักได้ เมื่อคนป่วยมาจากประเภทก็ต้องเข้าสถานที่กักคอยผู้ป่วยสีเขียว เหลืองหรือส้มเป็นการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ที่ผ่านมาในการทำงานทางมหาวิทยาลัยต้องระดมแพทย์จากทุกอำเภอในจังหวัดมาช่วยกัน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้มาด้วยหัวใจจริงๆ ไม่ได้ถือผู้ป่วยเป็นภาระแต่อย่างใด เป็นความภูมิใจที่ช่วยเหลือคนไทย ช่วยประเทศ เป็นบรรยากาศความเอื้ออาทรระหว่างบุคลากรกับผู้ป่วย เชื่อไหมเรามีผู้ป่วยเมื่อรักษาหายแล้ว แต่จะขออยู่รพ.สนามต่อเพราะเขาประทับใจไม่อยากกลับไปกักตัวที่บ้านอีก 7 วัน สิ่งเหล่านี้เป็นความประทับใจในการทำงานยามที่ประเทศเกิดวิกฤติขึ้น
ด้านน.ส.ก้อย (นามสมมุติ) ผู้ป่วยโควิด ที่เข้ารับการรักษาที่ รพ.สนาม มศว.องครักษ์ จ.นครนายก กล่าวว่า ช่วงแรกที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด รู้สึกกลัวว่าเชื่อจะลงปอดไหมจะรักษาหายไหม แต่พอมาเจอทีมหมอและพยาบาลที่นี่กลับอุ่นใจเนื่องจากดูแลผู้ป่วยดีมากเป็นการเอาใจใส่เราทุกรายละเอียด
ขณะที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ รพ.สนาม มศว.องครักษ์ จ.นครนายก เปิดเผยว่า ในภาวะวิกฤติโรคระบาดคนไทยทุกคนต้องเสียสละ บุคลากรทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกันเราพร้อมทำงานหนักช่วยเหลือผู้ป่วย แบ่งเบาภาระรพ.หลักเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ ที่ผ่านมาผู้ป่วยหลายๆคนที่หายแล้วเขียนจดหมายน้อยส่งมาขอบคุณเราแค่นี้เป็นความภูมิใจแล้ว และไม่ว่าจะให้เปิดรพ.อีกกี่สิบกี่ร้อยเตียงเราก็ทำได้ เพราะเราต้องช่วยกัน