นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตร กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โอกาสและอนาคตเกษตรสมุนไพร สร้างรายได้และเศรษฐกิจ” ในงานประชุมเชิงปฎิบัติการ สมุนไพรทางรอดใหม่เกษตรกรไทย ที่จัดขึ้นโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยได้แนะให้ภาครัฐปรับความคิด เร่งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างโอกาสและอนาคตให้เกษตรสมุนไพรเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือวิกฤติ ส่วนอีกด้านคือโอกาส อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นและใช้ประโยชน์จากด้านไหน วันนี้จะเห็นได้ว่าหลายธุรกิจได้รับผลกระทบหนัก แต่ในขณะเดียวกันอีกหลายธุรกิจกลับทำรายได้สูงขึ้น นั่นก็เพราะโลกของเราเปลี่ยนไปเร็วมากตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว จากการที่มีเทคโนโลยีทันสมัยถาโถมเข้ามา หรือที่เรียกว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) คนที่ปรับตัวทันย่อมจะเดินหน้าไปได้เร็วกว่าเป็นธรรมดา

ซึ่งสมุนไพรเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทยที่กำลังกลายเป็นสินค้าเกษตรตัวใหม่และทางรอดใหม่ของเกษตรกร เพราะมีช่องทางให้เติบโตได้มากในช่วงนี้ เนื่องจากคนไทยและชาวต่างชาติยอมรับกันอย่างกว้างขวางขึ้นว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ดีต่อสุขภาพสำหรับช่วงวิกฤติและช่วงที่หลายประเทศกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่วันนี้ยังไม่สามารถพัฒนามาตรฐาน สร้างแบรนด์หรือโกอินเตอร์ได้เท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุสำคัญคือพี่น้องเกษตรกรไทยและอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และต่อยอดธุรกิจกันอย่างเต็มที่ สมุนไพรบางอย่างยังไม่ได้รับการแปรรูปให้บริโภคง่ายขึ้น อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการวิจัยสายพันธุ์ที่มากเพียงพอ การพัฒนาและลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำยังไม่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงต้องปรับมาใช้ยุทธศาสตร์ “การตลาดนำการผลิต” ของรองนายกฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในการดำเนินงาน การขายสินค้าในวันนี้ไม่เหมือนอดีตแล้ว เราจำเป็นต้องตระหนักถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก ทั้งความต้องการของผู้บริโภคและมาตรฐานการนำเข้าสินค้าของแต่ละประเทศ เพื่อให้ผลิตสินค้าได้ตอบโจทย์มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะทำได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการร่วมมือกันจากหลากฝ่าย

ดังนั้นหากต้องการสร้างโอกาสและอนาคตที่ดีให้สมุนไพรไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ต้องบูรณาการความร่วมมือและข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ที่มีข้อมูลสินค้าศักยภาพอยู่เป็นจำนวนมากและมีทูตพาณิชย์อยู่ในหลายประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำงานใกล้ชิดเกษตรกรในหลายพื้นที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผู้มีความเชี่ยวชาญด้านทำตลาดต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สวทช. ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี รวมถึงภาคเอกชนที่มีงบประมาณสูง วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สตาร์ทอัพมากความสามารถ และภาคประชาสังคมที่สนใจในเรื่องนี้ด้วย โดยมุ่งเน้นที่สูตรสร้างความสำเร็จ “ก-ข-ค”

ก คือ กฎหมายหรือกฎระเบียบของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่มีมากเกินไป กฎหมายเยอะไม่ได้นำมาซึ่งความยุติธรรม แต่จะนำมาซึ่งความอยุติธรรม และทำให้เราตามเทรนด์โลกไม่ทัน ถ้าปรับเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยให้การทำธุรกิจทันโลก ทันเหตุการณ์มากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เช่น การลดขั้นตอนการขออนุญาตขึ้นทะเบียนยา การปรับลดภาษีการระดมทุนแบบ Crowdfunding และการลดกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ P2P เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรที่ทำเกี่ยวกับสมุนไพรไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น

ข คือ แข่งขัน เมื่อปรับกฎหมายแล้วภาครัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างธุรกิจในประเทศด้วย เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ ได้มีโอกาสเติบโต สามารถก้าวเข้าสู่ระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม ทั้งในด้านการวิจัย พัฒนา ตลอดจนถึงการขายสินค้า โดยภาครัฐต้องช่วยต่อยอดการวิจัยและพัฒนาสินค้าเหล่านั้นให้ “ขึ้นห้าง” ไม่ใช่แค่ “ขึ้นหิ้ง” ทิ้งไว้เท่านั้น ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยได้เข้าถึงงานวิจัยดี ๆ เพื่อช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรสมุนไพรไปถึงระดับโลก

ค คือ ความคิด หน่วยงานราชการต้องคิดใหม่ มองเอกชนเป็นมิตรไม่ใช่ศัตรู วันนี้บ้านเรายังไม่มีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ ถึงแม้หลายกระทรวงจะพยายามทำกันอยู่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในขณะเดียวกันมีเอกชนที่มีความพร้อมอยู่มาก แต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นหากไม่อยากพลาดโอกาสมหาศาล ภาครัฐควรสนับสนุนเอกชนในการทำแพลตฟอร์มนี้ให้สำเร็จ เพื่อให้ต่างชาติเข้าถึงสินค้าในประเทศได้มากขึ้น เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและโกอินเตอร์ไปพร้อมกัน เราควรนําศาสตร์พระราชามาใช้พร้อมกับยุทธศาสตร์ด้าน BCG ที่จะสร้างความสมดุลในการพัฒนามาตรฐานของไทยเราเองเช่น “Earth Safe” หรือ “PGS” ที่รองรับคุณภาพความปลอดภัยปลอดสารและรักษ์โลก

“การสร้างโอกาสและอนาคตให้อุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม ต้องขจัดอุปสรรคเหล่านี้ให้หมดไป เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการวิจัยสายพันธุ์ กระบวนการรับรองคุณภาพ การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) เพื่อทำให้สินค้าเกษตรกลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรม นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างยั่งยืน” นายปริญญ์กล่าว