“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มอบให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้รับจ้างจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ดำเนินการแก้ไขรายงานฯ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ส่งรายงานกลับมายัง รฟท. เพื่อให้ปรับเพิ่มทางเลือกการสร้างสถานีอยุธยา ซึ่งเป็นงานอยู่ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.)
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ทาง สผ. มองว่า รฟท. ระบุทางเลือกน้อยไป เหมือนต้องการให้สร้างสถานีอยุธยาเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามเบื้องต้น รฟท. จะยืนยันรายงานฯ กลับไปว่า ต้องสร้างสถานีอยุธยา ซึ่งพื้นที่การก่อสร้างก็ตั้งอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม และมีระยะห่างจากพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาประมาณ 1.5 กม. ดังนั้นการก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถาน หรือทัศนียภาพในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะเสนอ สผ. ในฐานะเลขานุการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และกรมศิลปากร ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม พิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ปัจจุบัน รฟท. ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาที่ 4-5 วงเงิน 10,325 ล้านบาท กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ผู้รับจ้าง เนื่องจากเอกชนยังขอหารือภายในของบริษัทฯ ก่อนอีกประมาณ 1 เดือน เนื่องจากยังมีข้อกังวลเรื่องต้นทุนทางการเงิน เพราะสัญญานี้ค่อนข้างแตกต่างจากสัญญาอื่นๆ ที่ให้สร้างทางวิ่งไปก่อน และเว้นสถานีอยุธยาไว้สร้างทีหลัง เบื้องต้นบริษัทฯ ยังคงยืนราคาเดิม คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค.67 จากนั้น รฟท. จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้แม้ว่ารายงาน HIA ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การก่อสร้างสามารถดำเนินการควบคู่ไปได้
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มี 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 30.95% ล่าช้าประมาณ 51.55% โดยสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%, สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. เตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้าง, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 53.51%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 43.87%,
สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 69.11 กม. คืบหน้า 72.43%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 5.87% ยังมีปัญหาชาวบ้านอยากให้สร้างบริเวณโคกกรวด-บ้านใหม่ ระยะทางประมาณ 7 กม. เป็นทางยกระดับแทนทางระดับดิน คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาเดือน มี.ค.67 โดยการปรับเป็นยกระดับใช้งบประมาณเพิ่มอีกกว่า 4,000 ล้านบาท จากเดิม 7,750 ล้านบาท, สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.27%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 26.25%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 3.98% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.56% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 50.40%
ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จากบริเวณวัดเสมียนนารี ถึงสถานีดอนเมือง ระยะทางประมาณ 10 กม. ต้องรอให้การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ จบก่อน เบื้องต้นได้ข้อสรุปแล้ว อยู่ระหว่างหารือการก่อสร้างโครงสร้างทับซ้อนดังกล่าว กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญา แนวโน้มจะให้ซีพีเป็นผู้ก่อสร้าง.