หลังจากกลุ่มไทยพาณิชย์ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ตั้งโฮลดิ้งส์ภายใต้ชื่อ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) แล้วธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะมีความคิดเห็นอย่างไร และจะมีแนวทางกำกับดูแลอย่างไรหลังจากนี้
ในเรื่องนี้ นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่มของไทยพาณิชย์ (SCB) ในครั้งนี้ เป็นการจัดโครงสร้างกลุ่มฯ โดยจะมี เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มฯ และมีธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้งบริษัทอื่นๆ เป็นบริษัทลูก (จากเดิมที่ธนาคารเป็นบริษัทแม่) ซึ่งการจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินในลักษณะนี้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีอยู่แล้ว อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก
ทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่มีการจัดโครงสร้างกลุ่ม โดยมีบริษัทโฮลดิ้งส์เป็นบริษัทแม่ และมีธนาคารเป็นบริษัทลูก เช่น บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปของธนาคารทิสโก้ (TISCO) หรือ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีสถาบันการเงินอื่นขอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มในลักษณะนี้เพิ่มเติม
ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงว่า การจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจในลักษณะดังกล่าวที่แยกการทำธุรกิจที่นอกเหนือจาก traditional banking หรือทำธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมผ่านสาขาธนาคาร มาดำเนินการภายใต้บริษัทลูกหลาย ๆ บริษัท โดยมีโฮลดิ้งส์ คัมปะนี เป็นบริษัทแม่เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลนั้น ธนาคารต้องการสร้างความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ให้สามารถเสนอบริการทางการเงินและที่เกี่ยวข้องได้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มต่างๆ มากขึ้น ภายใต้บริบทปัจจุบันและในอนาคตที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญ
ซึ่ง ธปท.ไม่ขัดข้องหากการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกค้าประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นธรรม โดยยังคงต้องดูแลให้ธนาคารและกลุ่มธุรกิจฯ มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม
“ตามพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. มีอำนาจในการกำกับและตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงินทั้งบริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมอยู่แล้ว และ ธปท. ก็มีประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งทุกบริษัทในกลุ่มฯ ต้องปฏิบัติตาม ทั้งในเรื่องขอบเขตธุรกิจของ แต่ละบริษัท การทำธุรกรรมระหว่างกันภายในกลุ่ม ธรรมาภิบาล การให้บริการที่เป็นธรรม (มาร์เก็ต คอนดักท์) รวมทั้ง ธปท. มีการติดตามตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงินทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์แบบต่อเนื่อง (on-going supervision) ตามหลักการ Significant Activates”
สำหรับกระบวนการอนุมัติที่ต้องให้ ธปท. เห็นชอบ ในเบื้องต้น ธปท.ได้พิจารณาในกรอบหลักการแล้วว่า SCB สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินโดยมีบริษัทโฮลดิ้งส์เป็นบริษัทแม่ได้ แต่ธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจฯ ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ดังนั้น SCB ต้องมายื่นขออนุญาตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มกับ ธปท. อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ SCB ให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลุ่มนี้แล้ว โดยประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) วันที่ 15 พ.ย. 64 คาดว่าจะยื่นขออนุญาต ธปท. ภายในเดือน พ.ย. 64 และ ธปท. น่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสิ้น ธ.ค. 64 หรือ ม.ค. 65
ซึ่งในการยื่นขออนุญาต ธนาคารจะต้องส่งรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ ธปท.ประกอบการพิจารณา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธนาคารมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์กำกับดูแลในด้านต่างๆ เช่น ขอบเขตธุรกิจของบริษัทลูกทั้งหมด การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทในกลุ่ม การบริหารจัดการความเสี่ยง การทำหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารตามหลักธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุนของทั้งธนาคารและกลุ่มธุรกิจให้เพียงพอรองรับการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม การดูแลลูกค้าให้ได้รับบริการอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม ตลอดจนหลักเกณฑ์เรื่องการจ่ายเงินปันผลรองรับการปรับโครงสร้างกลุ่ม
ในขณะเดียวกัน SCB ก็ต้องยื่นขออนุญาตและปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลอื่นด้วย เช่น การประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ในการนำ SCBX เข้า listed ในตลาดหลักทรัพย์แทน SCB ที่จะถูก delisted ออกไป การยื่นขอรับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จาก กระทรวงการคลัง ผ่าน ธปท. สำหรับการจัดตั้งบริษัท คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด (CardX) เป็นต้น