“การทอผ้าด้วยวิธีทอมือแบบโบราณ…เป็นภูมิปัญญาบ้านโนนกอกที่กำลังจะสูญหายไป จึงพยายามอย่างที่สุดเพื่อที่จะอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป” เป็นความมุ่งมั่นของ “ต้น-อภิชาติ พลบัวไข” กับ “คิม-ชัยพงษ์ บริวาร” ซึ่งทั้งสองเป็นญาติกัน และเป็นหัวเรือหลักที่ช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชนของตนไว้ เพื่อสืบสานวิถีชุมชน ควบคู่กับการสร้างรายได้ให้กับ “ชาวชุมชนบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ จ.อุดรธานี” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้กัน…

ต้น-อภิชาติ พลบัวไข

สืบเนื่องจาก “ทีมวิถีชีวิต” ได้ร่วมคณะของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. นำโดย ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ จ.อุดรธานี รวมถึงที่ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญากลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ซึ่งเป็นชุมชนที่เป็นต้นแบบ ทาง “ทีมวิถีชีวิต” มีโอกาสได้พบกับ ต้น และ คิม ที่เป็นแกนหลักในการอนุรักษ์ผ้าทอมือโบราณบ้านโนนกอกไว้ โดยทั้งสองได้ช่วยกันก่อตั้ง “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” ขึ้นเพื่ออนุรักษ์การทอ ผ้าขิด และให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนของคนในชุมชน โดยทั้งสองร่วมกันเล่าให้ฟังว่า…ทั้งคู่เกิดและเติบโตที่บ้านโนนกอก ซึ่งคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรทำนา แต่แทบทุกคนก็ทอผ้ากันอยู่แล้ว โดยจะมีกี่ทอผ้าอยู่แทบทุกบ้าน ซึ่งวิชาทอผ้านี้มีการสืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย คนที่นี่จะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากงานหลักทอผ้าไว้ใส่กันเอง ทำให้ทั้งสองคนได้เห็นการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก และได้วิชาทอผ้ามาจากการครูพักลักจำ เมื่อได้เห็นคุณยายทอผ้า…

คิม-ชัยพงษ์ บริวาร

“เรามองว่าการทอผ้าเป็นความมหัศจรรย์ ยิ่งตอนที่เห็นคุณยายทอเสร็จแล้วนำมาสวมใส่ เรายิ่งมองว่าสวยงามมาก ๆ ทำให้เราทั้งคู่อยากทอผ้าเป็น แต่ด้วยความที่สมัยก่อนจะไม่ค่อยให้ผู้ชายทอผ้า จะเป็นงานของผู้หญิง ผู้ชายต้องทำงานแบกหาม ทำให้ตอนนั้นเราต้องแอบฝึกทอผ้ากันในป่า กี่ทอก็ทำขึ้นกันเอง เส้นไหมก็แอบหยิบของยายไปทอ จนสามารถทอออกมาได้สำเร็จ 1 ผืน ก็เอาไปให้แม่ดู แม่ก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้ห้ามเราทอ เราก็เลยทอผ้ามาเรื่อย ๆ จนเรียนถึงชั้น ม.3 ต้องย้ายเข้าไปเรียนในเมือง ก็เลยไม่ได้ทอผ้าอีก” ทาง คิม-ชัยพงษ์ เล่าให้ฟัง

ส่วนจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งคู่นั้น เกิดขึ้นประมาณปี 2557 โดย ต้น-อภิชาติ ที่เป็นผู้ใหญ่บ้านโนนกอก ได้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการทอผ้า ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบ้านโนนกอก ต้นจึงศึกษาข้อมูลจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน และได้ทดลองทอผ้าโบราณด้วยตนเอง จนเกิดความชำนาญ ทำให้ต่อมาเขาจึงได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ด้านการทอผ้าของบ้านโนนกอก และได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกขึ้นมา… “ยิ่งนานวัน การทอผ้าบ้านโนนกอกก็เริ่มเลือนหาย ไม่มีการทอผ้ามากว่า 20 ปี เราจึงอยากฟื้นฟูไว้ให้คงอยู่ และสิ่งที่สำคัญสุด คืออยากสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เพื่อดึงลูกหลานกลับมาอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปทำงานในเมือง” นี่เป็นแรงผลักที่ทำให้ต้นอยากทำเรื่องนี้

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เยี่ยมชม

อย่างไรก็ตาม แต่การเริ่มนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านทอผ้ามาก็ไม่รู้จะขายให้ใคร เนื่องจากไม่มีตลาด ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นใจ ทั้งคู่จึงต้องสร้างความมั่นใจว่าการทอผ้าทำเป็นอาชีพได้ โดยเริ่มจากชวนน้าที่เป็นญาติ ซึ่งทอผ้าเพียง 1 คน พอผ้าทอเสร็จก็ถ่ายรูปลงขายในช่องทางโซเชียล จากนั้นกรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอกเข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) ทำให้ได้ออกบูธขายตามงานต่าง ๆ จนเริ่มมีคนรู้จักผ้าทอบ้านโนนกอกมากขึ้น

ต่อมาก็ค่อย ๆ ดึงคนเข้ามารวมกลุ่มทีละคน จนกลุ่มเริ่มขยายใหญ่ขึ้น และยิ่งได้ ธ.ก.ส. เข้ามา ช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุน ประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับไว้ให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเรียนรู้สืบสานหัตถกรรมทอผ้าแบบโบราณเพื่อสืบสานต่อไปในอนาคตแล้ว ยังเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามาทอผ้าและจำหน่ายสินค้า

“วิธีทอผ้าบ้านโนนกอกยังคงยึดหลักทอมือแบบโบราณ หัวใจสำคัญคือใช้กี่ทอผ้าโบราณ ใช้แรงคนในการย่ำหูก มือสองข้างสอดเรียงเส้นไหมเป็นลวดลาย การทอมือแม้ใช้เวลานาน แต่เป็นเสน่ห์ของผ้าทอ ซึ่งลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้า เส้นไหมหรือเส้นฝ้ายทุกเส้น ถูกถักทอจากความใส่ใจ สะท้อนวิถีดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา ซึ่งปัจจุบันมีอุตสาหกรรมเข้ามาติดต่อขายเครื่องจักรทอผ้าให้ แต่เราไม่สนใจ เพราะมองว่าเป็นการทำลายภูมิปัญญาชาวบ้าน”

แกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณระบุ พร้อมบอก “จุดเด่น” ของ “ผ้าทอมือบ้านโนนกอก” อีกอย่าง คือ ย้อมผ้าด้วยบัวแดงที่เป็นอัตลักษณ์ โดยทั้งสองบอกว่า…พยายามหาอัตลักษณ์ของตัวเองว่าจะทำยังไงให้ผ้าทอของชุมชนมีเอกลักษณ์ เพราะผ้าทอก็คงคล้ายกันทุกที่ จึงสร้างอัตลักษณ์ด้วยการใช้สีย้อมธรรมชาติจากบัวแดง ที่เก็บมาจากห้วยเชียงรวง ซึ่งที่อื่น ๆ จะไม่มีการทำกัน เพราะบัวแดงห้วยเชียงรวง บ้านโนนกอก เป็นแหล่งเดียวในโลกเท่านั้นที่นำมาย้อมให้สีติดเส้นไหมได้

ขั้นตอนการย้อมสีจากบัวแดง

“การย้อมสีจากบัวแดง จะใช้ก้านบัว ดอกบัว และกลีบดอกบัว ก้านบัวถ้านำมาย้อมจะได้สีเทาอ่อน ส่วนดอกบัวจะได้สีทอง และหากนำไปหมักน้ำโคลนก็จะได้สีดำ หรือถ้านำไปใส่ปูนแดงก็จะได้สีเขียว ส่วนกลีบดอกบัว หากนำเส้นไหมหมักกับน้ำมะนาว และเอากลีบดอกบัวหมักกับน้ำมะนาว เมื่อนำมาผสมกันจะได้สีชมพู”

ทั้งนี้ แกนนำทั้งสองคนบอกต่อไปว่า ตอนนี้สิ่งที่กังวลจะเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาสืบทอดการทอผ้า เพราะเวลานี้การใช้กี่ทอโบราณมีคนที่ใช้เป็นเหลืออยู่จำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยที่ศูนย์ฯ มีช่างทอผ้าอยู่ 10 กว่าคน ซึ่งแต่ละคนตอนนี้ก็มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และที่มากสุดก็เป็นช่างทอผ้าอายุ 85 ปี ทำให้มาคิดกันว่า หากหมดรุ่นคุณยายไปการทอผ้าก็คงจะหายไปแน่ ๆ จึงอยากอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบต่อไปถึงคนรุ่นหลัง…

“ตอนนี้ได้ทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนบ้านหนองนาคำ โดยเข้าไปทำเป็นชมรมทอผ้าให้เด็ก ๆ ได้เรียนกัน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และซึมซับการทอผ้า หากเด็กคนไหนสนใจอยากทอผ้าต่อก็มาเรียนได้ที่ศูนย์ฯ ก็มีเด็กสนใจเยอะ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากทอเป็นอาชีพ แต่ก็มีอยู่ 2 คนที่เข้ามาทอผ้าที่ศูนย์ฯ เราก็สร้างกี่ทอให้ พอเลิกเรียนน้อง ๆ ก็จะเข้ามาทอผ้า” …เป็นคำบอกเล่าจาก “ต้น-อภิชาติ พลบัวไข” และ “คิม-ชัยพงษ์ บริวาร” แกนหลัก ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญากลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก โดยทั้งสองคนได้ย้ำไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” ถึงความตั้งใจของทั้งคู่ว่า… “ได้พยายามทำเต็มที่ให้ดีที่สุด เพราะไม่อยากให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนนี้ต้องสูญหายไป…จนหาดูได้แค่ในพิพิธภัณฑ์”.

สร้างรายได้จากอาชีพอื่นด้วย

‘มีอยู่มีกิน มีรายได้ ก็มีความสุข’

“เมื่อชาวบ้านมีรายได้ ก็มีรอยยิ้ม เราจึงพยายามทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เพราะชาวบ้านมีอยู่มีกิน มีรายได้ ก็มีความสุข” ทาง ต้น-อภิชาติ กล่าวเสริม ซึ่งนอกจากสร้างอาชีพจากการทอผ้าแล้ว เขายังเล่าอีกว่า ได้ขยายไปสู่การสร้างอาชีพอื่น ๆ อีกหลากหลายเพื่อให้ทุกคนได้มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานผู้สูงอายุในหมู่บ้านให้ทอผ้าที่บ้าน โดยวัตถุดิบทุกอย่างศูนย์ฯ ออกให้หมด แค่ทอให้ได้คุณภาพ ศูนย์ฯ ก็จะรับซื้อในราคาสูงกว่าที่อื่น เป็นการสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ และนอกจากทอผ้า กลุ่มผู้สูงอายุก็จะทำงานฝีมือคือ “ตุงแมงมุม” ขายสร้างรายได้เสริมอีกทาง

“เราพยายามหาอาชีพให้ชาวบ้านได้ทำในสิ่งที่เขาถนัด ผู้สูงอายุที่ทอผ้าไม่เป็นเราก็ให้ทำขนม ทำอาหาร เลี้ยงกบ นอกจากนั้นยังลงทุนให้คุณตาคุณยาย 500 บาทต่อครัวเรือน ใช้เป็นทุนปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ถ้าเหลือก็ขายเป็นรายได้ ตอนนี้ก็พยายามขยายผักพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้น ให้เขามีรายได้กันมากขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านโนนกอกทิ้งท้าย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน