เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางว่า การศึกษาดังกล่าวจะนำไปใช้ในการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นค่าโดยสาร รวมถึงมาตรการกำกับค่าโดยสาร ร่างข้อกำหนดกฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมาตรการส่งเสริมการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทางราง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทางรางได้อย่างเท่าเทียม สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน ก.พ.67 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และจะนำมาใช้เมื่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. … มีผลบังคับใช้ต่อไป
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงฯ ประกอบด้วย ค่าโดยสารรถไฟระหว่างเมือง จะคำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง โดยแต่ละชั้นบริการจะไม่เท่ากัน อาทิ รถไฟชั้น 1 อัตราค่าโดยสาร 0.924-1.165 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ชั้น 2 อัตราค่าโดยสาร 0.420-0.610 บาทต่อกม. และชั้น 3 อัตราค่าโดยสาร 0.181-0.269 บาทต่อกม., อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สายใหม่ หรือต่อสัญญาใหม่นั้น จะใช้ค่าที่กำหนดโดย MRT Standardize ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน และปรับขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยอัตราค่าโดยสารขั้นสูงจะอยู่ที่ 42-45 บาท
ส่วนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค 7 จังหวัด อัตราค่าแรกเข้า 10.79-12.17 บาท และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง 1.94-2.19 บาทต่อกม. โดยอัตราค่าโดยสารขั้นสูงจะอยู่ที่ 42-45 บาท และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) พบว่า ค่าแรกเข้าควรอยู่ที่ประมาณ 95 บาท และอัตราค่าโดยสาร ระยะทาง 300 กม.แรก 1.97 บาทต่อกม. และระยะทางมากกว่า 300 กม. 1.70 บาทต่อกม. อย่างไรก็ตามในส่วนนี้จะยังไม่รวมกับค่าธรรมเนียมบริการ เพราะรถไฟความเร็วสูง จะมีที่นั่งแยกเป็นแต่ละชั้น ซึ่งค่าธรรมเนียมจะมีอัตราไม่เท่ากัน
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยกระทรวงคมนาคมเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.66 นำร่องในรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายสีม่วง ช่วงสถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน ซึ่งกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 11.01% ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ขณะที่สายสีม่วง วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 4% และวันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 13.41%
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้รายได้ที่จะสูญเสียไปลดลง 25% จากที่คาดการณ์ว่าทั้ง 2 สาย จะสูญเสียรายได้รวมประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี ยอมรับว่าขณะนี้การเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบต่างๆ กับรถไฟฟ้ายังไม่สมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน คาดว่าน่าจะเห็นผลที่ดีขึ้นภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ และ 9 เดือนที่เหลือ มั่นใจว่าจะมีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้นอีก และการชดเชยรายได้ก็จะน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 67 ขร. จะสรุปผลการดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเสนอต่อกระทรวงคมนาคมด้วย
นายพิเชฐ กล่าวด้วยว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปนั้น ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ เพราะ รฟม. ใช้ส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชย ซึ่งมีอยู่ประมาณปีละ 2-3 พันล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีแดง ยังต้องใช้งบประมาณรัฐในการชดเชย สำหรับในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีอื่นนั้น ขร. มองว่าในปี 67 สามารถดำเนินการได้เพิ่มใน 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงสำโรง-ลาดพร้าว เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารไม่มาก สายสีเหลือง อยู่ที่ 3-4 หมื่นคนต่อวัน และสายสีชมพู อยู่ที่ 5-6 หมื่นคนต่อวัน จึงดำเนินการได้ง่าย และ รฟม. สามารถใช้เงินส่วนแบ่งรายได้จากสายสีน้ำเงินมาชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทาน
นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขร. จะเสนอเรื่องการเพิ่มการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในสายสีชมพู และสายสีเหลืองในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567 และปี 2568” ซึ่งมี รมว.คมนาคม เป็นประธานในปลายเดือน ม.ค.นี้ด้วย ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เดินทางด้วยรถไฟฟ้าประมาณ 13 กิโลเมตร (กม.) ต่อเที่ยว และยินดีจ่ายค่ารถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 42 บาทต่อเที่ยว (รวมทุกสาย) โดยนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ก็ถือว่าต่ำกว่าที่ประชาชนยินดีจ่าย
นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ในระยะยาว ขร. จะเสนอให้ปรับวิธีการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ เหมือนกับการลงทุนก่อสร้างถนน และซ่อมบำรุงที่รัฐลงทุน 100% เพราะหากใช้วิธีเดิมที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ค่าโดยสารก็ไม่มีวันที่จะมีราคาถูกลงได้ เพราะเอกชนต้องนำค่าบำรุงรักษาต่างๆ มาบวกในค่าโดยสาร ทำให้ค่าโดยสารแพง ดังนั้นหลังจากนี้รัฐควรเป็นผู้ลงทุน 100% และจ้างเอกชนเป็นผู้เดินรถ อย่างไรก็ตาม หากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้ ขร. จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาด้วย.