เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และโฆษก ปปง. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) นั้น
โดยนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. มอบหมายนายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษก ปปง. และเจ้าหน้าที่ ปปง. เป็นผู้แทนในการส่งมอบสำนวนให้นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวนรวม 15 รายคดี ประกอบด้วย การส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 10 รายคดี ทรัพย์สิน 147 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 57 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายเทพสุ กล่าวอีกว่า สำหรับรายคดีสำคัญซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้มีการอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวรวมทั้งหมด จำนวน 102 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 57 ล้านบาท อาทิ รายคดีกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทาง www.bk8th.com (กลุ่มของนายกิติพร กับพวก) โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 76 รายการ ประกอบด้วย เงินในบัญชีเงินฝาก พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท ส่วนรายคดีของนายบรม กับพวก ซึ่งมีข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มบัญชีเงินฝากธนาคารที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันทางเว็บไซต์ www.etfm.org https://fun88thaime.com/fun88/ และ https://www.fun881211.com เป็นต้น คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ เป็นสินค้าแบรนด์เนม เครื่องประดับ นาฬิกาข้อมือ และยานพาหนะ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท
นายเทพสุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปปง. ยังได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 5 รายคดี เป็นทรัพย์สิน 80 รายการ พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 65 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ดังนี้ รายคดี บริษัท ออสซี่ออยล์ จำกัด กับพวก โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์น้ำมันเพื่อการเกษตร ธุรกิจแฟรนไชส์โครงการรถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้า คลังน้ำมันชุมชน โรงงานไฟฟ้าชุมชนโซลาร์เซลล์ โดยคณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย
โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 39 รายการ มูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 400 ราย ส่วนรายคดีห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก กรณีโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนธุรกิจฟาร์มเห็ด และในโครงการเกษตรต่าง ๆ ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมากนั้น คณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1,368 ราย ส่วน รายคดี น.ส.ปภาสิภัค กับพวก หรือ คดีสหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำกัด กรณีพฤติการณ์กระทำความผิดของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำกัด ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของสหกรณ์ มีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกในการถอนเงินและได้ไปซึ่งเงินดังกล่าว และมีการแก้ไขงบทดรองในแต่ละเดือน โดยมีการกระทำการดังกล่าวจำนวนหลายครั้ง ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย โดยดำเนินการกับทรัพย์สิน 7 รายการ มูลค่าประมาณ 9 ล้านบาท และดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจำนวน 1 ราย คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ค่ายอิงคยุทธบริหาร.