ทั้งนี้ สำหรับสหรัฐอเมริกานั้นมีรายงานข่าวว่าทางกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองได้สำรวจพบตัวเลขคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่สหรัฐเริ่มใช้ระบบนับคนไร้บ้านตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยคนอเมริกันก็แสดงความกังวลใจไม่น้อยกับปัญหานี้ เพราะ “เกี่ยวโยงกับปัญหาหลาย ๆ เรื่อง” ซึ่งมองสหรัฐแล้วย้อนมอง “ประเทศไทย” กับกรณี “คนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” นี่ก็ “ชวนขบคิด”…

“เร่ร่อน-ไร้บ้าน” นี่ “ในไทยเป็นเช่นไร?”

ปัญหานี้ “ล่าสุดน่ากังวลอย่างไรบ้าง?”…

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว…กลุ่ม “คนเร่ร่อนในประเทศไทย” จะน้อยกว่าหรือมากกว่าคงมิใช่ประเด็น ที่แน่ ๆ คือในไทยก็มีประเด็นปัญหานี้ และระยะหลัง ๆ ในไทย-ในสังคมไทยก็ “เกิดปัญหาเกี่ยวโยงต่อเนื่อง” จากคนเร่ร่อนบางส่วน ที่ได้ “สร้างความเดือดร้อน-สร้างความหวาดกลัว” เช่น มีการ “ก่อเหตุทำร้ายคน” ตลอดจน “บุกทำลายทรัพย์สิน” ซึ่งจริง ๆ ส่วนที่ก่อเหตุนั้นเป็นแค่ส่วนน้อย ดังนั้น สังคมจึงไม่ควรมองคนกลุ่มนี้แง่ลบไปเสียทั้งหมด ในขณะที่…

ทบทวนนิยาม” กับ “จัดทำองค์ความรู้”

ตลอดจน “สำรวจสถานภาพ” คนเร่ร่อน

เพื่อให้ไทยมีฐานข้อมูล”…ก็เรื่องสำคัญ

และ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อข้อมูลที่เกี่ยวโยงน่าพิจารณา จากข้อมูลบทความ “การสำรวจและทบทวนองค์ความรู้ว่าด้วยสถานภาพของคนไร้บ้าน” โดย ณัฐวีร์ พุ่มระชัฏร์, จักราวุฒิ ประสิทธิชัย, ภริมา เพ็งสว่าง ที่มีการเผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งได้ระบุถึง “คนไร้บ้านในไทย” ไว้ว่า… กว่าทศวรรษที่ผ่านมาไทยมี “คนไร้บ้าน” หรือ “Homeless” เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง!! ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคนไร้บ้านที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลให้เกิดการกระจัดกระจายขยายตัวไปในที่ต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่คนไร้บ้านเลือกใช้เป็นที่พักอาศัย…

ใน “พื้นที่ต่าง ๆ ของเขตเมือง” นั้น…

จะ “พบคนไร้บ้านคนเร่ร่อนได้ทั่วไป”

ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวระบุไว้อีกว่า… คนไร้บ้านเป็น “กลุ่มเปราะบาง” กลุ่มหนึ่ง ที่ก็ต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุน เช่นเดียวกับกลุ่มเปราะบางในสังคมกลุ่มอื่น ๆ ทั้งในมิติ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่ความต้องการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลในการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป หรือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม จากจำนวนคนเร่ร่อนที่เพิ่มขึ้น ก็จำเป็นจะต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากสถิติสำรวจประชากรที่มีสถานภาพไร้บ้าน ในช่วง 7 ปี คือปี 2556-2562 ได้พบตัวเลขที่น่าตกใจ… กลุ่มคนไร้บ้านในไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี…

ปรากฏการณ์นี้ “เกิดขึ้นก่อนมีโควิด-19”

และ “มีโควิด…คนไร้บ้านยิ่งเพิ่มเรื่อย ๆ”

การเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนไร้บ้าน-คนเร่ร่อนนี้ ในแหล่งข้อมูลข้างต้นสะท้อนไว้ว่า… การสำรวจเชิงสถิติพบว่าก่อนเกิดโควิด-19 ประชากรกลุ่มคนไร้บ้านก็มีอัตราเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แล้วมาเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็วช่วงวิกฤติโควิด-19 อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้โควิด-19 จะบรรเทาลงแล้ว ซึ่งแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของจำนวนคนไร้บ้านนี้สะท้อนให้เห็นว่า… สภาพปัญหานี้กำลังจะส่งผลพัฒนาต่อไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายหลายเรื่อง!! โดยอัตราเร่งการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นของคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม…ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ชุดข้อมูลบทความ “การสำรวจและทบทวนองค์ความรู้ว่าด้วยสถานภาพของคนไร้บ้าน” โดย ณัฐวีร์ พุ่มระชัฏร์, จักราวุฒิ ประสิทธิชัย, ภริมา เพ็งสว่าง ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังระบุไว้ว่า… จากสถิติเชิงเปรียบเทียบพบว่า… ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีสถานภาพเป็นเมืองหลวง และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่นี้จะมีคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วน พื้นที่ที่มีคนไร้บ้านรองจากกรุงเทพฯ ประกอบด้วยนครราชสีมา, เชียงใหม่, สงขลา, ชลบุรี, ขอนแก่น …นี่เป็นพื้นที่หลัก ๆ

พร้อมกันนี้ ก็ได้มีการเสนอ “แนวคิดเพื่อลดปัญหาคนไร้บ้าน-คนเร่ร่อน” ไว้ด้วยว่า… อาจเริ่มจาก จัดสวัสดิการพื้นฐานให้ภายใต้สังคมสมัยใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว โดยควรจะพิจารณาสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการ หรือเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมให้คนไร้บ้านดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วย, ค้นหากลไกจัดการปัญหาโดยทำความเข้าใจถึงบทบาทและกลไกขับเคลื่อนงานของแต่ละภาคส่วน วิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของภาคส่วนต่าง ๆ และที่ก็สำคัญเช่นกันคือ จัดทำองค์ความรู้ว่าด้วยกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อให้เข้าใจสาเหตุที่ทำให้ต้องเป็นคนไร้บ้าน …เพื่อ แก้ไข-ป้องกันวงจรการเกิดปัญหา

“เร่ร่อน-ไร้บ้าน” ยุคนี้ “ไทยยิ่งน่ากังวล”

ซึ่ง “ผลักออกจากสังคมยิ่งเพิ่มปัญหา”

สหรัฐยังแย่ “ไทยกลัวก็ต้องแก้ด่วน!!”.