นัยว่าชาวต่างชาติที่เห็น ๆ กันนั้นมีจำนวนไม่น้อยที่ เข้ามาแอบทำงานหาเงิน??” เช่นในรูปแบบ “อาสาสมัคร” มิหนำซ้ำหลาย ๆ คนยัง “หอบหิ้วครอบครัวมาด้วย” โดยหลังจากเรื่องนี้ถูกโพสต์และถูกแชร์ก็ส่งผลทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างอื้ออึงต่อกรณีดังกล่าว และนอกจากนี้ก็ยังมีชาวโซเชียลออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า…นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งที่เข้ามาไทยในช่วงนี้นั้น…

ไม่เพียงอาจไม่ใช่กลุ่มที่ไทยคาดหวัง

เผลอ ๆ ยัง “อาจทำให้ไทยเกิดปัญหา”

เพราะว่า “เป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ??”

ทั้งนี้ เรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจในโลกโซเชียลเรื่องนี้ จุดเริ่มเกิดจากมีผู้ใช้งานโซเชียลรายหนึ่งได้มีการตั้งกระทู้เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ “มีคนต่างชาติแอบแฝงเข้าไทยมากขึ้น” โดย “แอบแฝงมาในฐานะนักท่องเที่ยว” ในช่วงที่ “ไทยเปิดฟรีวีซ่า” ให้พลเมืองชาติอื่นเพิ่มขึ้น ทำให้เดินทางเข้ามาไทยได้สะดวกขึ้น ทำให้มีการ “อาศัยช่องโหว่แฝงตัวเข้ามาทำงานหาเงิน” และที่พบบ่อย ๆ ในช่วงนี้จะเป็น “คนจากทวีปยุโรป” จาก “ประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจมาก” โดยที่คนเหล่านี้นั้น…

ถูกเรียกว่า… “ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ!!”

เกี่ยวกับปรากฏการณ์ชาวต่างชาติแอบแฝงเข้าไทยดังกล่าวนี้ เกี่ยวกับศัพท์น่าสนใจคำว่า “ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ” นั้น สำหรับคำอธิบายถึงศัพท์คำนี้…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้มีการสอบถามไปยังนักวิชาการ คือ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับคำศัพท์คำนี้มาน่าพิจารณา…

ทาง ดร.ภูษิต ระบุว่า… “ผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ” นี่ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ แต่มีเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้จะพบคำคำนี้ถูกใช้บ่อยครั้งมากขึ้น เนื่องจากมีการพบปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยที่การเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มนี้ก็ “เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ” ที่หลายประเทศกำลังเผชิญปัญหา รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยคนบางกลุ่มในบางประเทศนั้นตัดสินใจ เดินทางออกจากประเทศตนเอง เพื่อจะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในประเทศเป้าหมายปลายทาง ซึ่งการ “แฝงตัวในรูปแบบนักท่องเที่ยว” ก็เป็นรูปแบบที่ทำได้ง่าย และได้รับความนิยม ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในไทย เวลานี้…

ไม่ใช่เรื่องใหม่เกิดกับหลายประเทศ

มีต่างชาติมามากแต่ได้เม็ดเงินน้อย!!

ดร.ภูษิต ผอ.หลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ขยายความเรื่องนี้เพิ่มเติมกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ จากที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า… จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยมีเยอะขึ้น…แต่ทำไมกลับยังมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบน้อยอยู่?? จนมีคนมองว่า… นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เห็น ๆ กันนั้นอาจจะมีส่วนที่เป็น “กลุ่มคนที่ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ” จากประเทศตัวเองเข้ามาในประเทศไทย?? นั้น… กับเรื่องนี้ คงต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ…เป็นนักท่องเที่ยวจริง กับเป็นการแอบแฝงเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว

ประเด็นแรก… เป็นนักท่องเที่ยวจริง แต่เพราะ…มีกำลังซื้อไม่สูง มีกำลังซื้อน้อย ก็จึงส่งผลทำให้เม็ดเงินรายได้ที่เกิดขึ้นไม่ได้เพิ่มมากอย่างที่หลายคนหลายฝ่ายคาดหวังไว้ ซึ่งสำหรับกลุ่มนี้ก็ยังถือว่าดี เพราะแม้จะมีกำลังซื้อต่ำกว่ากลุ่มเป้าหมายที่ไทยคาดหวัง แม้จะใช้จ่ายน้อย แม้จะไม่ได้มากอย่างที่ไทยเองคาดหวังภายหลังจากการเปิดฟรีวีซ่า แต่…

ก็ยังพอจะมีเม็ดเงินไหลเข้าไทยบ้าง

ประเด็นที่สอง… เป็นกลุ่มที่แฝงเข้ามาทำงาน เข้ามาในรูปแบบของนักท่องเที่ยว ซึ่งกับ “สิ่งที่ดึงดูด” ก็คงจะต้องยอมรับด้วยว่า…ตลาดแรงงานไทยขณะนี้บางสาขาอาชีพก็ยังคง “ขาดแคลน” โดยเฉพาะ “แรงงานทักษะสูง” บางด้าน ซึ่งเนื่องจากแรงงานไทยเองมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวต่างชาติกลุ่มดังกล่าวนี้จึงใช้
“ช่องว่าง” นี้แฝงตัวเข้าไทยมาทำงาน

ทั้งนี้ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วยว่า… โดยส่วนตัวแล้วมองว่า…ถ้าคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานแล้วทำให้ธุรกิจของไทยพัฒนาดีขึ้น ก็เป็นเรื่องดี อีกทั้งชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่นาน ๆ เมื่อมีรายได้ก็จะต้องจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็เป็นผลบวกกับไทยได้เช่นกัน แต่…ถ้า เข้ามาแล้วมาเปิดธุรกิจแข่งกับคนไทย ถ้าแบบนี้นี่แหละที่จะสร้างปัญหา…

จะ “เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย”

“ไทยก็ต้องควบคุมให้ดี อย่างน้อยต้องให้มีการเสียภาษีถูกต้อง เพื่อให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบของเรา และที่สำคัญคือต้องไม่แย่งอาชีพคนไทย ถ้าเข้ามาแล้วมาแย่งอาชีพคนไทยคงไม่ดีแน่ ขณะที่ในส่วนของแรงงานไทยเองก็ต้องพัฒนาให้ทันด้วย ไม่ใช่กลัวคนอื่นจะแย่งงาน แต่เรากลับไม่ยอมอัปสกิลตัวเอง ซึ่งถ้าพัฒนาไม่ทันเขา สุดท้ายเราก็จะถูกแย่งงานอยู่ดี”…ทาง ดร.ภูษิต ระบุ “น่าคิด” ทั้งกับ “แรงงานไทย” และกรณี “ต่างชาติแฝงทำงานในไทย”…

กรณี “ต่างชาติ”“ นั้น “จากยุโรปก็ยังมี!!”

“ในไทย” ก็ “เป็นแหล่งลี้ภัยเศรษฐกิจ”

จะ “ภูมิใจหรือตกใจกันดีล่ะเนี่ย??”.