ทั้งนี้ การที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญกับการช่วยคนไทยแก้ “หนี้นอกระบบ” ก็ย่อมเป็นเรื่องดี และน่าลุ้นว่าจะสางปัญหาใหญ่ในสังคมไทยปัญหานี้ได้แค่ไหนอย่างไรบ้าง?? ส่วนผู้ที่เป็น “หนี้ในระบบ” กับการจะ “ขอผ่อนผันบรรเทาหนี้” นั้น…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลบางแง่มุมมาสะท้อนต่อ…

นั่นคือ…“การเขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้”

ที่เรื่องนี้ “มีหลักวิธี-แนวทางการเขียน”

เพื่อที่จะ “ขอให้เจ้าหนี้ยอมช่วยลูกหนี้”

สำหรับการที่ “ลูกหนี้” จะ “เขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้” เพื่อจะ “ขอให้เจ้าหนี้ช่วย” นั้น ก็มี “คำแนะนำ” ที่เผยแพร่ไว้ใน เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านบทความชื่อ “How to write เขียนจดหมายยังไงให้เจ้าหนี้ยอมช่วย” ซึ่งได้ให้แนวทางไว้น่าสนใจ โดยหลักใหญ่ใจความในบทความดังกล่าวมีการระบุไว้ว่า… หลายคนคงรู้สึกกลุ้มใจและวิตกกังวล เมื่อชำระหนี้ไม่ไหว แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ซึ่งในกรณีนี้คือ การขอเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อหาข้อยุติร่วมกันในการขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่า ลูกหนี้สามารถจะขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้ตลอด ตั้งแต่ยังเป็นหนี้ปกติ แต่เริ่มมีปัญหา จนถึงเป็นหนี้เสีย หรือแม้แต่อยู่ในกระบวนการทางศาลแล้ว โดยการ “เขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ติดต่อเจ้าหนี้ ซึ่ง “มีข้อดี” คือ ส่งเรื่องถึงเจ้าหนี้ได้โดยตรง ไม่ต้องประหม่าเวลาเจอหน้า มีหลักฐานชัดเจน

แถม “ช่วยให้มีเวลาเรียบเรียงความคิด”

อย่างไรก็ตาม “ก่อนจะเริ่มต้นเขียนจดหมาย” เพื่อ “ยื่นข้อเสนอขอปรับโครงสร้างหนี้” ทางลูกหนี้ก็ “จำเป็นต้องรู้เทคนิค-รู้หลักการ” ก่อน โดยในแหล่งข้อมูลข้างต้นได้ให้คำแนะนำเรื่องนี้ไว้ดังนี้… หนึ่ง… “ต้องรู้ข้อมูลเจ้าหนี้” โดยลูกหนี้ต้องรู้ชัดว่า เจ้าหนี้เราคือใคร? เพื่อส่งจดหมายให้ถูกที่และถูกคน เพราะบางครั้งชื่อบริการสินเชื่อที่คุ้นเคยเป็นชื่อทางการค้า แต่ไม่ตรงกับชื่อของสถาบันการเงิน หรือบริษัท ดังนั้นก่อนส่งจดหมายถึงเจ้าหนี้ทางลูกหนี้ก็ควรตรวจสอบชื่อเจ้าหนี้จากเอกสารสัญญาหรือใบแจ้งหนี้เสียก่อน และ ส่งจดหมายได้ทางไหน? ก็สอบถามศูนย์บริการหรือคอลเซ็นเตอร์ของเจ้าหนี้ นี่รวมถึง…

ตรวจสอบว่าจดหมายส่งถึงเจ้าหนี้มั้ย?

เพื่อมีหลักฐานใช้ติดตามความคืบหน้า

สอง… “ต้องรู้ข้อมูลตัวเราเอง” โดยลูกหนี้เองก็ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะให้เจ้าหนี้พิจารณาแล้วอยากช่วยเรา ได้แก่ ข้อมูลหนี้ที่มีทั้งหมด เช่น เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกหนี้ควรเตรียมและส่งไปให้เจ้าหนี้พร้อมจดหมาย รวมถึงตารางสำรวจภาระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมภาระหนี้สินที่มี และวางแผนปลดหนี้หรือแก้ไขปัญหาหนี้ได้ง่ายขึ้น, บันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่จะเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นภาพการจัดการเงินของตัวเรา ซึ่งจะมีประโยชน์กับการแก้ปัญหาหนี้, เอกสารประกอบอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงความสามารถการชำระหนี้ที่ลดลง เช่น เอกสารรายได้ที่ลดลง จดหมายเลิกจ้าง ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล …นี่เป็นหัวข้อที่ “ลูกหนี้ต้องรู้ก่อนเขียนหาเจ้าหนี้”

ต้องรู้ข้อมูลชัดทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เอง

ต่อไปก็ “ขั้นตอนเขียนจดหมายถึงเจ้าหนี้” ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ธปท. แนะนำ “หลักสำคัญ” ในการเขียนไว้ว่า… ต้องเขียนทุกเรื่องตามความจริง โดยต้องสามารถพิสูจน์ตรวจสอบได้ หากเจ้าหนี้ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง จากนั้นเมื่อเริ่มเขียนย่อหน้าที่ 1 หรือย่อหน้าแรก เริ่มจากการ…เขียนแนะนำตัว เพื่อให้ข้อมูลเจ้าหนี้ว่าเราชื่ออะไร, เขียนข้อมูลหนี้ เช่น ประเภทหนี้ทั้งหมดที่มีที่ต้องการเจรจา ภาระผ่อนหนี้ ยอดหนี้คงเหลือปัจจุบัน สถานะผ่อนหนี้ในปัจจุบัน, เขียนเล่าข้อมูลรายรับ-รายจ่าย เช่น แหล่งรายรับและจำนวนเงิน อาชีพอะไร มีรายรับและรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่

นอกจากนี้ ในย่อหน้าที่ 2 ของจดหมายที่ลูกหนี้เขียนถึงเจ้าหนี้นั้น… ควรเขียนถึงสภาพคล่องที่มีด้วย โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายและหนี้แล้ว ลูกหนี้ควรมีเงินเหลือบ้าง ตลอดจน เขียนปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้มีปัญหาการชำระหนี้ เช่น บอกสาเหตุที่ทำให้จ่ายหนี้ไม่ได้ ชี้แจงว่าสาเหตุดังกล่าวส่งผลกระทบ และได้พยายามแก้ไขปัญหาเบื้องต้นอย่างไรบ้าง เป็นต้น…

นี่ก็ข้อมูลที่ควรมีในจดหมายถึงเจ้าหนี้

ขณะที่ในย่อหน้าที่ 3 นั้น ควรเป็นการเขียนขอความช่วยเหลือ และ เสนอแนวทางการชำระหนี้ที่ทำได้โดยเสนอแนวทางที่เราต้องการพร้อมบอกเหตุผล ซึ่งลูกหนี้ควรเสนอตัวเลือกให้เจ้าหนี้อย่างน้อย 1 หรือ 2 ทางเลือก รวมถึงควรบอกช่องทางติดต่อกลับที่ติดต่อได้และสะดวก …นี่เป็น “สิ่งที่ควรจะมีอยู่ในจดหมายถึงเจ้าหนี้” ในย่อหน้าสุดท้าย …ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็น “แนวทางน่าสนใจ” สำหรับ “หนี้ในระบบ” ที่น่าจะลองใช้เป็น “ทางลอง-ทางเลือก” ให้หายใจหายคอได้คล่องขึ้น…

ทั้งนี้ คำแนะนำนี้สำหรับผู้ที่เป็นหนี้ในระบบ

“หนี้นอกระบบ” ก็ “ต้องลุ้นวิธีรัฐบาล”…

หรือ “จะลองเพิ่มวิธีเขียนจดหมาย”…

ก็ “ลองดูก็ได้…เผื่อจะฟลุกได้ผล??”.