ทั้งนี้วันก่อนรัฐบาลประกาศว่าจะช่วยประชาชนเกี่ยวกับ “หนี้นอกระบบ” ถึงขั้นให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ซึ่งก็น่าจับตา-น่าติดตามดูว่าจะอย่างไรต่อไป?? ในขณะที่ “หนี้ในระบบ” ของประชาชนคนไทย หรือที่มีศัพท์เรียกว่า “หนี้ครัวเรือน” ที่มีข่าวว่าตอนนี้ยอดรวมของไทย “สูงลิ่ว!!” นี่ก็น่าจับตา-น่าตระหนัก…

“หนี้ครัวเรือน” เห็นชัดว่ามีข่าว “น่าห่วง”

“มาตรการช่วย” นั้น “ไม่ชัดนักว่ามีมั้ย?”

ก็ต้องยึด “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนกันไป”…

ทั้งนี้… “หมายถึงเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ หรือใช้เพื่อประกอบธุรกิจก็ได้” …นี่เป็นความหมาย หรือนิยามศัพท์คำว่า “หนี้ครัวเรือน” ที่ทาง ธปท. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการอธิบายไว้ ซึ่งข้อมูลหนี้ครัวเรือนจะครอบคลุมเฉพาะในส่วนเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่ ธปท. มีการเก็บข้อมูล ดังนั้นหนี้ครัวเรือนจึงเป็น “หนี้ในระบบ” เป็นหนี้ของคนไทยที่ “ไม่รวมหนี้นอกระบบ” ที่ในไทยมียอดรวมมหาศาลมานานแล้ว และเป็นปัญหาในหลาย ๆ มิติมานานแล้วเช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน…

รัฐบาลเน้นที่ช่วยแก้หนี้นอกระบบ??

ในนิยาม “หนี้ในระบบ-หนี้ครัวเรือน” ดังที่ระบุข้างต้นนั้น… คำว่า “บุคคลธรรมดา” ก็เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ “ประชาชนทั่วไป” นี่แหละ…ที่ตั้งแต่ช่วงมีโควิด-19 ระบาดรุนแรง ประชาชนที่เป็นหนี้อยู่ หรือเพิ่งก่อหนี้ แล้วหนี้กลายเป็น “หนี้ค้างจ่าย-หนี้ที่ไม่สามารถจ่ายคืน” นั้น…มีจำนวน “มากมาย!!” อันเนื่องจากการที่ รายได้ลด ขาดรายได้ สูญเสียรายได้ที่เคยมี

จากการที่กิจการหรืองานที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือเป็นลูกจ้างผู้อื่น มีอัน ต้องชะลอ ต้องหยุด ต้องล้ม เพราะผลจากพิษโควิดนั้น… แม้ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ที่สถานการณ์ ภัยโควิดได้บรรเทาลงมาก แล้ว แต่กับ “หนี้ในระบบ” หนี้ที่กลายเป็น “หนี้ที่ไม่สามารถจ่าย-หนี้ค้างจ่าย” สถานการณ์ การฟื้นคืนจนจ่ายคืนหนี้ได้ก็ยังไม่ดีขึ้นมาก เท่าใดนัก…

หลายคนจำต้อง “ก่อหนี้นอกระบบ”…

เมื่อรวมหนี้ในระบบ “ก็ยิ่งไปกันใหญ่!!”

โฟกัสกันเฉพาะ “หนี้ในระบบ-หนี้ครัวเรือน” จากข้อมูลที่บางหน่วยงานได้เคยชี้ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2562 และทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้ มาถึงช่วงปลายปี 2566 นี้ก็ถือว่ายังคงร่วมสมัยแบบ “หนี้-หนี้” โดยข้อมูลที่ว่านี้บางช่วงบางตอนมีการระบุไว้ว่า…พบว่า มีคนไทยถึงร้อยละ 50 ที่เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ โดยค่าเฉลี่ยอายุของผู้ที่เป็นหนี้ในตอนนั้นอยู่ที่อายุ 30 ปี และที่ยิ่งน่าห่วงคือ แม้เข้าสู่วัยเกษียณแล้วแต่ก็ยังต้องแบกรับภาระหนี้กันอยู่อีกไม่น้อย โดยในตอนนั้นพบหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อรายในกลุ่มคนเป็นหนี้ที่มีอายุ 60-69 ปี ซึ่งก็ตั้งแต่หลายปีก่อนแล้วที่มีข้อมูลชี้ว่า…

“คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น…และนานขึ้น!!”

และจากที่ได้อ้างอิงปี 2562 ไว้ก่อนหน้านี้…ในตอนนั้น “หนี้ในระบบ-หนี้ครัวเรือน” ของคนไทย ณ ไตรมาสแรกของปี 2562 มียอดรวมอยู่ที่ 12.97 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 78.7 ต่อจีดีพี (GDP) โดย ณ ตอนนั้นก็ถือว่าหนี้ดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ทำให้ “คนไทยติดโผหนี้ท่วม” อันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชีย ซึ่งก็วิพากษ์กันเซ็งแซ่ แต่ยอดหนี้ตอนนั้นว่าน่าห่วงแล้ว “ถึงตอนนี้ยิ่งน่าห่วงมาก!!” กับผลกระทบที่จะเกิด ตั้งแต่ระดับตัวบุคคลจนถึงระดับประเทศ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าวที่อ้างอิงการเปิดเผยของเครดิตบูโร หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด บางช่วงบางตอนมีการระบุไว้ว่า… หนี้ครัวเรือนที่อยู่ภายใต้ข้อมูลของเครดิตบูโรนั้น ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 ยอดหนี้อยู่ที่ 13.5 ล้านล้านบาท!!

ในยอดหนี้ดังกล่าวนี้… เห็นว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวน 23.8 ล้านใบ ยอดหนี้ราว 5.46 แสนล้านบาท เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 31.7 ล้านบัญชี ยอดหนี้ราว 2.58 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมแค่ 2 ส่วนนี้ก็สูงลิ่วทะลุ 3 ล้านล้านบาท …น้อยเสียเมื่อไหร่!!

เน้นว่ามิใช่หลักล้านเป็นล้านล้าน!!

จากยอดหนี้ข้างต้น… ก็เห็นว่ากำลังเป็นที่จับตา โดยเฉพาะ “เอ็นพีแอล-หนี้เสีย” ซึ่งจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ก็มีส่วนที่ระบุไว้ว่า “กลุ่มลูกหนี้ที่น่ากังวล และต้องเร่งแก้ไข คือลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดเพราะโควิด”…ขณะที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้รับฟังเสียงโอดจากคนไทยมาไม่น้อย สรุปความได้ว่า… “เป็นหนี้ในระบบแล้วต้องเป็นหนี้เสียเพราะพิษโควิด วันนี้หนี้ยังท่วมหัว-ยังโงหัวไม่ขึ้น พอจะมีหวังบ้างหรือไม่ที่จะได้ติดกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างได้ผลจริง ๆ จากนโยบายบริหารประเทศยุคฟื้นฟูพิษโควิดให้กับคนไทย??” และ… “เมื่อเป็นหนี้เสีย การจะเข้าถึงหนี้ในระบบเพิ่ม เพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการและชีวิต เป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจ หลายคนตัดสินใจหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ซึ่งก็ไปกันใหญ่ ก็แล้วจะให้ทำอย่างไร??” …อะไรประมาณนี้ ซึ่งกรณีหลังนั้นก็อาจมีผลฉุดรั้งวาระแห่งชาติแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลด้วย…ใช่หรือไม่??

“หนี้ในระบบ-หนี้ครัวเรือน” ที่ “ก็สูงลิ่ว”

“ก็น่าห่วง” ว่า “ที่สุดอาจกระทบไปทั่ว”

เช่นนี้… “รัฐบาลพอช่วยได้ก็ช่วยด้วย!!”.