​ทั้งการใช้ดินเป็นแหล่งอาหาร เป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ฯลฯ การใช้ประโยชน์โดยรู้หลักใช้อย่างเหมาะสมจะเกิดเป็นความยั่งยืน มีแหล่งผลิตอาหารที่มีความมั่นคงปลอดภัย และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

​จากการผลิตอาหารของมนุษย์โดยข้อมูลจากชุดความรู้วันดินโลก โดยกรมพัฒนาที่ดินประมาณ 95% ของอาหารในโลกผลิตจากดิน เนื่องจากดินเป็นที่กักเก็บนํ้าและแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยถ้าดินมีคุณภาพดีย่อมผลิตพืชผลได้ดี ช่วยหล่อเลี้ยงและบำรุงสุขภาพให้กับคน สัตว์ เชื่อมโยงกับคุณภาพและปริมาณอาหารของโลก

การอนุรักษ์ ปรับปรุงบำรุงดินจึงเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารและเพิ่มปริมาณสารอาหารที่เป็นประโยชน์ทั้งนี้พาสำรวจดิน สร้างสุขภาพดินที่ดีโดยนำความรู้การปรุงดินปลูกพืชจาก “สุเทพ กุลศรี” ผู้เชี่ยวชาญการปลูกผัก ออร์แกนิกโค้ช วิทยากรสอนการปลูกผักออร์แกนิกผู้ที่มีความตั้งใจทำให้การปลูกผักเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคนเล่าว่า ดินเป็นปัจจัยสำคัญ โดยที่ผ่านมาทดลองปรับปรุงกระทั่งมาเป็นวิธีนี้ซึ่งนำมาปลูกผักของตนเองและส่งต่อองค์ความรู้ให้กับผู้อื่น

“การปรุงดิน” การปลูกพืชผักอินทรีย์สร้างอาหารปลอดภัย หากดินที่ปลูกดีปลูกอะไรก็งอกงาม โดยการปรุงดินเพิ่มธาตุอาหารในดินในฉบับลุงสุเทพซึ่งสามารถนำมาปลูกพืชได้ทั้งในกระถางและในแปลงปลูก โดยคนในเมือง คนรุ่นใหม่หรือหากมีพื้นที่จำกัดก็สามารถทำตามได้ไม่ยาก โดยวัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ดิน ขุยมะพร้าวและปุ๋ยคอก โดยมีอัตราส่วน 2:2:1 แต่หากไม่มีขุยมะพร้าวสามารถใช้ขี้เลื่อย หรือจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งนี้ก่อนหน้าที่มาเป็นส่วนผสมเหล่านี้ ตนเองได้ทดลองปรับลดทำซํ้า ๆ จนมาลงตัวที่วัสดุเหล่านี้ซึ่งเป็นตัวหลัก

​ลุงสุเทพเล่าเพิ่มอีกว่า นอกจากวัสดุ เทคนิคที่สำคัญของการปรุงดินนี้คือ “ปุ๋ยคอก” โดยถ้าใช้ขี้วัวจากที่มีอยู่ในกระสอบก็ให้รดนํ้าให้ชุ่ม สัก 2 วัน เพื่อให้มีความชุ่มชื้น โดยปกติแล้วปุ๋ยคอกจะแห้ง เมื่อถึงเวลาปรุงให้นำขุยมะพร้าวครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งส่วนเทลงในชั้นแรก แล้วเทดินทั้งหมดวางด้านบน โดยดินควรจะเป็นดินที่แห้ง จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกที่บ่มนํ้าไว้วางไว้ด้านบนหรือเทปุ๋ยคอกรดนํ้าให้เปียกและชื้น โดยค่อย ๆ ใช้สายยางรดพรมให้ทั่วเพื่อให้นํ้าไปชะธาตุอาหารที่อยู่ในตัวปุ๋ยคอกออกมา ดินก็จะดูดซับซึ่งก็เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องทำดินให้แห้งไว้

จากนั้นเทขุยมะพร้าวที่เหลือวางไว้ด้านบนรดนํ้าซึ่งขุยมะพร้าวจะช่วยรักษาความชื้น จากนั้นราว 10 วันผ่านไปก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน ถ้าวัสดุทั้งสามเข้ากันดีก็สามารถนำมาใช้ได้เลย สามารถทำเองได้ พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือตัวเองได้โดยที่มีดินคุณภาพดีไว้สำหรับปลูกพืชผักสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหา การจัดการขยะอินทรีย์ หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง ออร์แกนิกโค้ช ลุงสุเทพให้มุมมอง แนวทางการจัดการขยะอินทรีย์ โดยมองเห็นประโยชน์จาก หนอนแมลงวันลาย นำมาเพาะเลี้ยงช่วยการกำจัดขยะอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก ผลไม้ เศษอาหาร ฯลฯ โดยสามารถช่วยกำจัดได้เร็วและผลพวงที่ได้ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด นำไปเลี้ยงไก่ เลี้ยงนก เลี้ยงปลาหรือกบ ฯลฯ ทั้งสามารถนำไปบดอบแห้งเป็นอาหารให้กับสัตว์ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ทั้งเป็นอาหารสัตว์ชั้นดี โดยที่เกษตรกรสามารถทำเองได้ สร้างความยั่งยืนได้ทั้งกับตนเองและสิ่งแวดล้อม

“หนอนแมลงวันลายนอกจากตัวของเขาจะช่วยกำจัดเศษอาหาร หากนำตัวอ่อนของเขาไปเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ฯลฯ จากที่กล่าวถือเป็นโปรตีนชั้นดีให้กับสัตว์ เป็นผลพลอยได้ผลผลิตต่อเนื่องนอกจากการกำจัดขยะ เป็นการจัดการที่ครบวงจร” อีกโมเดลการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ทั้งเป็นการจัดการขยะอินทรีย์นับแต่ต้นทางและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า.