วันนี้ (21 พ.ย. 2566 ) วันอังคารสีชมพู  ประชาชนจะได้ใช้บริการ รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล(ระบบรางเดี่ยว) สายที่สองของประเทศไทย (สายแรกสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง)  ในเวลาประมาณ 15.00 น. หลังจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน  เป็นประธานเปิดบริการด้วยการเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงในช่วงเช้า

ตามกำหนดการนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ควบคุมการเดินรถ และเยี่ยมชมสถานีมีนบุรี พร้อมทดลองการออกบัตรโดยสารผ่านเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ และทดลองใช้บัตรโดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าผ่านประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ(AFC GATE) ร่วมโดยสารรถไฟฟ้าขบวนพิเศษออกจากสถานีมีนบุรี ไปสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ(PK16) และรับชมวิดีทัศน์ภาพรวมโครงการฯบนขบวนรถก่อนเดินทางกลับ    

จากนั้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการตลอดสาย 30 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01)-สถานีมีนบุรี( PK30) โดยไม่เก็บค่าโดยสาร(ฟรี) เป็นเวลา 26  วัน  ก่อนเปิดบริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ตั้งแต่วันที่18 ธ.ค.2566  การเดินทางตลอดสายจะใช้เวลาประมาณ 50 นาที

เบื้องต้นในสัปดาห์แรกจะเปิดให้บริการฟรีช่วงเวลาประมาณ 06.00-20.00 น. ซึ่งในวันแรก( 21 พ.ย.) จะเปิดครึ่งวันบ่าย-20.00 น. ส่วนสัปดาห์ที่ 2 จะขยายเวลาเป็น 06.00-22.00 น. และสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป จะเปิดบริการช่วงเวลาปกติ 06.00-24.00 น.  NBM ได้เตรียมขบวนรถรองรับไว้ประมาณ 20 ขบวน เดินรถวิ่งไป-กลับสลับกัน โดยสัปดาห์แรกจะปล่อยขบวนรถทุก 10 นาที และสัปดาห์ถัดไปช่วงเวลาเร่งด่วน(Peak) จะปล่อยขบวนรถทุก 5 นาที

การเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรีจะเปิดเสมือนให้บริการตามปกติ แต่ละสถานีจะพยายามเปิดบริการได้ทุกทางเข้า-ออก  ยอมรับว่างานอาจจะยังไม่เรียบร้อยทั้งหมดแต่รับรองว่าปลอดภัย  และมั่นใจว่าการเปิดบริการฟรีจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองคาดว่าจะมาใช้บริการมากกว่า 1 แสนคนต่อวัน  ทั้งนี้ช่วงเปิดบริการฟรีรฟม. ได้เปิดอาคารจอดรถสถานีมีนบุรีให้ใช้บริการฟรีที่ชั้น 1 ก่อนรองรับรถได้ประมาณ 1 พันคัน

ประชาชนที่จะมาใช้บริการติดต่อขอรับบัตรโดยสารได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร หรือกดรับบัตรผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติเข้าใช้บริการหรือใช้บัตร Rabbit และบัตร EMV แตะเข้าออกเดินทางได้ด้วยโดยไม่หักเงิน 

เมื่อเปิดบริการแบบเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน ผู้ที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารใช้เกณฑ์เดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ได้แก่ ผู้พิการ(แสดงบัตรผู้พิการที่ออกโดยหน่วยงานราชการ) และเด็กเล็ก อายุไม่เกิน 14 ปี และสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ขอรับบัตรเดินทางได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50%  ขณะที่รถไฟฟ้า 20 บาทตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทาน ต้องใช้เวลาและรอผลการเจรจาก่อน 

รถไฟฟ้าสีชมพูเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นได้ 3 สี  สายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี มีทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ความยาว 345 เมตร เป็นแห่งแรกในไทยที่มีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) บริการ 6 ตัว, เชื่อมสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ โดยไม่มีค่าแรกเข้า เพราะสายสีม่วงและสายสีแดงคิดค่าโดยสาร 20 บาทอยู่แล้ว เชื่อมสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ  ไม่มีค่าแรกเข้าเช่นกัน เพราะขณะนี้ช่วงหมอชิต-คูคต-สะพานใหม่ยังเปิดบริการฟรี และหากเก็บค่าโดยสารช่วงเดือน ธ.ค.2566 ในอัตรา 15 บาทตลอดสายไม่มีค่าแรกเข้าเหมือนเดิม 

นอกจากจะใช้บัตรโดยสารเที่ยวเดียวตามปกติแล้ว ยังใช้บัตร Rabbit และ บัตร EMV Contactless แตะชำระค่าโดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อกับสายสีเขียวได้ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ใช้บัตรใบเดียว โดยปัจจุบันบัตรเครดิต EMV Contactless ของทุกธนาคารใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดง และสายสีเหลืองได้ ส่วนบัตรเดบิต EMV Contactless ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบีใช้งานในสายสีเหลืองได้

ในอนาคต รถไฟฟ้าสีชมพู จะเชื่อมสายสีส้มได้ที่สถานีมีนบุรี  นอกจากนี้ยังเชื่อมสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่สถานีเมืองทองธานี โดยเส้นทางต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม.2 สถานี สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี อยู่ระหว่างก่อสร้างได้ผลงานภาพรวม 35.56% โดยงานโยธา 41.76% และงานระบบรถไฟฟ้า 23.34% กำลังเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อให้เปิดบริการได้ภายในปลายปี 2567 เร็วกว่าแผนที่วางไว้จะเปิดบริการกลางปี2568

รถไฟฟ้าโมโนเรลสีชมพู เป็นแบบคร่อมราง (Straddle) ไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนคานคอนกรีต มีความเร็วสูงสุด 80 กม./ชั่วโมง(ชม.) ขบวนรถไฟฟ้าเป็นแบบ 4 ตู้รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ขบวน หรือ17,000 คน ต่อชม.ต่อเที่ยว เพิ่มตู้ได้เป็น 6 ตู้ รองรับผู้โดยสารเป็น 25,000 คนต่อชม.ต่อเที่ยวและเพิ่มเป็น 7 ตู้รองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อชม.ต่อเที่ยว  

สิ้นสุดทางเลื่อนแล้ววันนี้ สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่ 2 ของไทย หลังจากลงนามในสัญญาก่อสร้างพร้อมสายสีเหลืองเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปีเต็ม  เดิมมีแผนเปิดบริการตั้งแต่ปี 2564 เลื่อนให้บริการเรื่อยมาจากผลกระทบโควิด-19

พร้อมเปิดบริการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้สะดวกสบายและรวดเร็วกว่าเดิม สมกับที่หลายคนเฝ้ารอคอย

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์