“ข้อมูล ความรู้ ทัศนะ และประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมแห่งความเป็นจีนทั้งหลาย…” นี่เป็นความหมายโดยสังเขปของคำว่า “จีนวิทยา” คำที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ “ศูนย์กลางของผู้รู้และผู้ใฝ่รู้เกี่ยวกับจีน” ที่จัดตั้งขึ้นโดย สมาคมปัญญาภิวัฒน์ ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “7-ELEVEN” ซึ่งศูนย์กลางฯ ที่ว่านี้ก็คือ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ที่มีการจัดตั้งขึ้นในไทยมานานแล้ว และการจัดตั้งก็ถือเป็น “วิชั่นที่น่าทึ่ง” เพราะก็อย่างที่ทราบ ๆ ในวันนี้ว่า…จีนเป็น 1 ในประเทศมหาอำนาจที่สำคัญของโลก ที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ควรจะได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์…ดังเช่นที่ไทยยุคนี้ก็กำลังหวังพึ่งจีนในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงการท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีน เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย…

การเยือนถิ่น “เมืองหลวง 10 ยุคสมัย” เมื่อเร็ว ๆ นี้…เป็นอีกโครงการที่จัดขึ้นโดย “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” โดยนำคณะสื่อจากไทยไปสัมผัสเรียนรู้ “ความเป็นมา-ความเป็นอยู่-ความเป็นไป” เกี่ยวกับ “วิถีชีวิตจีน” ณ พื้นที่เป้าหมายคือ “นานกิง” หรือ “หนานจิง” ซึ่งนำคณะโดย บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ธานี ลิมปนารมณ์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ซีพี ออลล์ และ ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้อำนวยการ อาศรมสยาม-จีนวิทยา ทั้งนี้ ขณะที่ในภาพรวมเกี่ยวกับจีนนั้นถือเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมยาวนานมากกว่า 5,000 ปี ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ มาหลายยุคสมัย มีศิลปวิทยาการและประสบการณ์มากมายให้โลกได้เรียนรู้ กับพื้นที่ “นานกิง-หนานจิง” นครหลวงเก่าแก่ของจีน…นี่ก็ “น่าสนใจมาก” เช่นกัน…
รวมถึง…“วิถีพุทธชีวิตจีนยุคใหม่”

บางช่วงบางตอนจากข้อมูลโดย ผอ.อาศรมสยาม-จีนวิทยา… “หนานจิง” หรือ “นานกิง” นั้นเป็นทั้ง ถิ่นกำเนิดบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์จีน เป็นหนึ่งในเมืองของจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน รวมถึงเป็น แหล่งกำเนิดอารยธรรมจีนโบราณสำคัญ 2 แหล่ง คือ… เป็นจุดบรรจบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง

มีบันทึกว่าหนึ่งในบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ซุนยัดเซน ได้ระบุไว้ว่า… “หนานจิงเป็นนครหลวงเก่าแก่ของประเทศจีน อยู่ยุคก่อนหน้าเมืองเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ที่แห่งนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ยอดเยี่ยม มีทั้งขุนเขา สายน้ำ และที่ราบ มีสามสิ่งที่สวรรค์สร้างสรรค์ภายในที่แห่งเดียว ยากที่จะหาสถานที่ชั้นยอดเช่นนี้ในมหานครของโลกได้…”

ก่อนจะมามีอีกชื่อว่า “นานกิง” นั้น เมืองสำคัญของแผ่นดินจีนเมืองนี้ได้ ผ่านเรื่องผ่านราวเกี่ยวกับ “วิถีชีวิตผู้คน” โดยมีความเป็นมายาวนานนับพัน ๆ ปี ซึ่งนับตั้งแต่ยุค “สามก๊ก” เรื่อยมาก็เปลี่ยนชื่อเมืองมาแล้วไม่น้อย กล่าวคือ… เจี้ยนเย่, เจี้ยนคัง, เจียงหนิง, อิ้งเทียน, เทียนจิง, หนานจิง โดยเมืองนี้เคยเป็น “1 ใน 4 มหานครหลวงในประวัติศาสตร์จีน” และจากการที่เป็นเมืองหลงของ 9 ราชวงศ์ กับอีก 1 รัฐบาลสาธารณรัฐ ก็จึงได้สมญาว่าเป็น… “นครหลวง 10 ยุคสมัย”
ปัจจุบัน “มีประชากรราว 9 ล้านคน”

ทั้งนี้ นอกจาก “หนานจิง-นานกิง” จะเป็นเมืองสำคัญที่ผู้คนมีวิถีชีวิตประจำอยู่ที่นี่ราว 9 ล้านชีวิตแล้ว เมืองแห่งนี้ยังมีคนจีนจากพื้นที่อื่น ๆ ทั่วทุกสารทิศของแผ่นดินจีนอันสุดกว้างใหญ่ไพศาลเดินทางมาร่วมมีวิถีชีวิตชั่วคราวอยู่ที่นี่ แต่ละวัน-แต่ละสัปดาห์-แต่ละเดือน-แต่ละปี…รวมแล้วมากมายมหาศาล โดยที่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมามี “วิถีพุทธสไตล์ชีวิตจีนยุคใหม่” ด้วย

จากการที่ที่นี่ “มีพุทธสถานสำคัญ”
นั่นคือ… “วัดต้าเป้าเอิน” ซึ่งข้อมูลโดยสังเขปคือ… เป็น “สถานที่จัดพิมพ์พระมหาปิฎก” ฉบับหย่งเล่อหนานจั้ง ในสมัยราชวงศ์หมิง อีกทั้งยังเป็น ที่ตั้งของ “เจดีย์กระเบื้องเคลือบแห่งนานกิง” ที่เป็น “สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง” ร่วมกับ “กำแพงเมืองจีน” ซึ่งแต่เดิมคนรุ่นหลัง ๆ ไม่ค่อยรู้จักเพราะถูกทำลายไปแล้วช่วงกบฏไท่ผิง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 ทางการได้เริ่มต้นโครงการบูรณะวัด โดย มีการขุดค้นพบ “โบราณวัตถุล้ำค่า” มากมาย รวมถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” นี่จึงทำให้โครงการบูรณะขยายใหญ่ขึ้น และในปี พ.ศ. 2553 มหาเศรษฐีชื่อหวังเจี้ยนหลินได้บริจาคเงินกว่า 1 พันล้านหยวนเพื่อสมทบทุนโครงการบูรณะวัดต้าเป้าเอินแห่งนี้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการบริจาคแบบครั้งเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย

แล้วโครงการบูรณะก็ขยายใหญ่ขึ้นอีกจนที่นี่กลายเป็น “อนุสรณ์สถานเชิงพุทธ” ที่มีการ ผสมผสานวัฒนธรรมเก่าแก่ล้ำค่ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ อย่างลงตัว โดยตั้งอยู่ใน Nanjing Grand Bao’en Temple Heritage Park ริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียงในเมืองนานกิง ซึ่งเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่นั้นสร้างด้วยเหล็กกล้าและติดกระจกที่ทันสมัย มองโดยรวมดูล้ำสมัย ขณะที่ภาพรวมภายในอนุสรณ์สถานเชิงพุทธแห่งนี้ก็มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ล้ำสมัยกับการจัดแสงสีเสียง มีระบบไฮเทคในการเข้าเยี่ยมชมของผู้คน เช่น มี QR Code ให้ใช้สมาร์ทโฟนสแกนอ่านข้อมูลต่าง ๆ เสมือนเข้าชมงานศิลป์ใน Art Gallery ยุคใหม่
ทั้งหมดนั้น…พูดได้ชัด ๆ ว่า…“อลังการ!!”

เช่นเดียวกับอีก พุทธสถาน ณ “ภูเขาหนิวโส่ว” ที่มีความสูงราว 248 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 130,000 ตารางเมตร ซึ่งก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่ยุค “สามก๊ก” และก็เกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด รวมถึงเป็นศาสนสถานที่มักจะมีการจัดพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ อีกทั้งภูเขาหนิวโส่วยังเป็นสถานที่ที่เป็น “สุสานหลวง” ของจักรพรรดิจีนราชวงศ์หนานถัง 2 พระองค์ คือ จักรพรรดิหลี่เปี้ยน และ จักรพรรดิหลี่จิ่ง รวมถึงเป็นสุสานของ “เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ซำปอกง”

แม้ว่าบริเวณภูเขาแห่งนี้ในประวัติศาสตร์จะเคยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านการทหาร เคยเป็นที่ตั้งฐานทัพเพื่อการสงคราม และเคยเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการค้า แต่ในปัจจุบันถูกปรับให้กลายเป็นพื้นที่ทางพุทธศาสนา ซึ่งบนยอดเขาหนิวโส่วแห่งนี้มีการสร้าง “อารามฝอติ่ง” ที่ดูทันสมัย เป็นที่ ประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนข้างพระสิรัฐิ (พระเศียร)” เพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งโดยสังเขปเกี่ยวกับอารามนี้…จัดสร้างขึ้นเป็นรูปทรงโดม ภายในนั้นมีชั้นต่าง ๆ รวม 9 ชั้น

ใน 9 ชั้นของอารามนั้น ถูกจัดสร้างให้อยู่บนดิน 3 ชั้น และอยู่ใต้ดิน 6 ชั้น โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการรูปแบบต่าง ๆ ด้านวัฒนธรรมของพุทธศาสนามากมายชนิดที่ยากจะสาธยายกันให้ครบถ้วนในเนื้อที่อันจำกัด รวมถึงมีการสืบทอดวัฒนธรรมพุทธศาสนานิกายเซนที่นี่ด้วย ซึ่งมี “สวนวัฒนธรรมนิกายเซน” ที่สร้างขึ้นบนซากปรักหักพังของวัดหงเจ๋ว์ โดยมีศูนย์กลางคือ “เจดีย์วัดหงเจ๋ว์” ที่มีความสูงราว 45 เมตร สร้างขึ้นเป็นเจดีย์อิฐเลียนแบบโครงสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดใน “หนานจิง-นานกิง”

ทั้งนี้ ทั้งอนุสรณ์สถานเชิงพุทธวัดต้าเป้าเอิน และพุทธสถานเขาหนิวโส่ว ทั้ง 2 แห่งต่างก็ล้ำสมัยด้วยการจัดแสงสีเสียง มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมเต็มพิกัด มีการจัดระบบต่าง ๆ ราวกับ Art Gallery ราวกับพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบล้ำสมัย โดยสำหรับที่เขาหนิวโส่วนั้น “มีบันไดเลื่อนขึ้นเขา” อีกต่างหาก!! ซึ่งคนจีนเองก็เดินทางมาที่นานกิงเพื่อเข้าชมกันคราคร่ำเป็นจำนวนมากอยู่ตลอด จนจะบอกว่าเป็น “แรงศรัทธา” ก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก และจะบอกว่าเพื่อ “ท่องเที่ยว” ก็พอจะพูดได้อยู่

เอาเป็นว่า… “เป็นฉากทัศน์ศรัทธาในวิถีพุทธสไตล์ชีวิตจีนยุคใหม่” โดยที่ “ขลัง?-ไม่ขลัง?…ไม่รู้ล่ะ? ที่รู้แน่ ๆ คือ…อลังการชวนอึ้ง!!” …ซึ่งขณะที่ “วิถีพุทธไทยเดิม ๆ เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจีน” มีชาวจีนมาใส่ชุดไทยท่องเที่ยวกันจำนวนมาก… “หากที่ไทยคิดจะแข่งกับที่จีน…จะมีพุทธสถานใดในไทยเน้นอลังการหวังดึงนักท่องเที่ยวจีนล่ะก็…
เห็นจะมิสมเป็นแน่!!”.


‘อนุรักษ์โบราณ..บวกทันสมัย’

นอกจากสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธสถานแล้ว…การเยือน “หนานจิง-นานกิง เมืองหลวง 10 ยุคสมัย” ตามโครงการที่จัดโดย “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ซึ่งสนับสนุนโดย “ซีพี ออลล์” ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “7-ELEVEN” นั้น…ยังมีสถานที่ที่น่าจะได้พูดถึงอีกแห่งคือ… “ศาลขงจื่อเมืองหนานจิง” ทั้งนี้ “ขงจื่อ” หรือที่คนไทยมักเรียก “ขงจื๊อ” นั้น…เป็น “จอมปราชญ์บรมครูแห่งแผ่นดินจีน” ที่มุ่งเน้น สอนสั่งเรื่องการ “ตระหนักในหน้าที่” และโดยเฉพาะการ “มีคุณธรรม-จริยธรรม”
ศาลขงจื่อเมืองหนานจิงบรรยากาศอบอวลด้วยความขรึมขลัง มีคนจีนรุ่นใหม่ ๆ เข้า “ขอพรเกี่ยวกับการเรียน-การสอบ” กันคราคร่ำ ซึ่งที่นี่ ถูก “อนุรักษ์เป็นสถานที่สำคัญด้านวัฒนธรรม” ได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่รายรอบนั้นถูกพัฒนาให้เป็นย่านการค้า-ย่านอาหาร “ผสมผสานความโบราณกับความทันสมัย” อย่างลงตัว โดยที่… “เมื่อผละจากความขรึมขลังภายในศาลออกสู่ภายนอก…ก็จะได้ตื่นตาตื่นใจและตื่นพุงกับสีสันชวนสนุกและกลิ่นหอมชวนอร่อยในบัดดล”.

ไกรเลิศ พึ่งบุญ ณ อยุธยา