ภายหลังจากนายกรัฐมนตรี แถลงถึงรายละเอียดการจัดทำโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยเลือกวิธีการดำเนินนโยบายด้วยการออก พ.ร.บ.เงินกู้วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงว่า จะเลือกใช้วิธีการกู้เงิน ตาม มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงมีคำถามตามมาว่าจะ ทำได้จริงไหม
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวระบุไว้ว่า มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ดังนั้น จากกฎหมาย มาตรา 53 ที่บัญญัติไว้ถึงการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้นั้น มีประเด็นที่ต้องขบคิด และรอพิสูจน์กันอยู่ที่ว่า ต้องเป็นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ซึ่งต้องดูว่าหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง มองว่าจะเข้าข่ายความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ หากไม่ติดขัดอะไร ก็จะต้องผ่านด่านรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเสียก่อน เพื่อให้ออกมาเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ได้