ขณะที่ต่อมาเป็นยุคความร่วมมือการทำสหกิจศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรสายอาชีพต่าง ๆ กับตำแหน่งงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรียนรู้มา และมาถึงยุคปัจจุบันเป็นการพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการประกวดแข่งขันด้านความคิดและนวัตกรรม เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถแก้ปัญหาความยั่งยืนด้วยตนเอง หรือสามารถพัฒนาเรื่องความยั่งยืนให้เป็นธุรกิจ Start up หรือ SE ได้

ผมจำได้ว่าตอนที่ผมริเริ่มโครงการแข่งขันแบบนี้ เมื่อหลายปีก่อน ทั้งการแข่ง Hackathon, Circular Innovation Challenge, Business Sandbox Competition ต่าง ๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการต่างก็มองผมแปลก ๆ เพราะเขาคงสงสัยว่าผมมีปัญหาอะไรกับการเรียนแบบดั้งเดิม และทำไมผมต้องอยากให้นักเรียน นักศึกษาออกมาเรียนนอกห้องเรียน หรือทำไมต้องมีการแข่งขันโดยใช้โจทย์จริงในสังคม ซึ่งโจทย์แบบนี้จะเหมาะกับนักเรียน นักศึกษาในเวลานั้นหรือไม่ เพราะผู้ใหญ่เวลานั้นมักจะมองว่านักเรียนนักศึกษายังเด็กเกินไป แต่สิ่งที่หลายคนมองในวันนั้น กลับเป็นเหมือนสิ่งประหลาดที่มาก่อนกาล เนื่องจากข้าราชการยุคนั้นคงไม่เข้าใจและไม่กล้าออกนอกกรอบ แต่วันนี้ท่านทั้งหลายต่างได้เห็นความสำคัญของสิ่งนี้แล้ว

จึงได้ช่วยกันสนับสนุนการเรียนรู้แบบนี้ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และทางกระทรวง อว. เอง ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้รับเกียรติจาก ทาง BMW ที่เชิญให้มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน การประกวดแนวคิดเพื่อความยั่งยืน CHOICEISYOURS 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยมีพันธมิตรอย่าง มูลนิธิชัยพัฒนา, เซ็นทรัลกรุ๊ป, ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย), เอสซีจี, เดลต้า อีเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) และโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ร่วมมือจัดงานนี้ขึ้น โดยปีนี้ได้เน้นเรื่องของ Circular Economy ที่มี 4 เรื่องสำคัญ คือ Rethink Reduce Reuse และ Recycle ซึ่งมีน้อง ๆ สมัครมาจากทั่วประเทศ รวม 111 ทีม และจะคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย 30 ทีม โดยผมทราบมาว่า พันธมิตรในแต่ละบริษัทได้ช่วยกันพัฒนาน้อง ๆ ที่ร่วมแข่งขัน ซึ่งมีทั้งการจัด Class และเป็น Mentor เกี่ยวกับเรื่อง Design Thinking ตลอดจนให้คำแนะนำกับน้อง ๆ ในการพัฒนาโครงการ และเทคนิคการทำ pitching รวมถึงพาไปชมการทำงานจริง ถึงสำนักงานและโรงงาน เพื่อให้เรียนรู้ว่าในชีวิตจริงองค์กรต่าง ๆ เอาจริงเอาจังเรื่อง Circular Economy แค่ไหน และหลังจากที่ผมได้พูดคุยกับน้อง ๆ หลายทีม พบว่าหลายคนตื่นเต้นและมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งถ้าหากในอนาคตสถานศึกษากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง อว. เห็นความสำคัญ และเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อต่อยอดขยายผลด้วยนั้นก็จะยิ่งดีมาก ๆ

แล้วการทำ CSR แบบนี้ได้ประโยชน์อะไร? สำหรับผมคงตอบว่า เราจะได้ “E” โดยน้อง ๆ จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง และขยายผลไปสู่เพื่อน ๆ ได้ทันที “S” ในด้านสังคมถือเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เป็นประชากรโลกให้มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21, “G” น้อง ๆ จะได้พัฒนาทักษะในการบริหารจัดการความยั่งยืน และได้เรียนรู้เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทต่าง ๆ ส่วนพนักงานที่เป็นพี่เลี้ยงในโครงการ ผมคิดว่าก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปกับน้อง ๆ ตลอดจนได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองไปพร้อมกันด้วย จนทำให้เกิด การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value)

ส่วนผลที่จะได้รับในระยะกลางและระยะยาวนั้นจะได้เรื่องของ Out come โดยน้อง ๆ ที่ร่วมแข่งขันจะกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเมื่อจบการศึกษาก็อาจจะมาเป็นพนักงาน หรือเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพขององค์กรต่าง ๆ หรืออาจจะเป็นนักลงทุน กลายเป็นผู้ถือหุ้นในอนาคต กลายเป็นลูกค้าที่มีความผูกพันกับแบรนด์ หรืออาจจะไปทำงานการเมือง เพื่อไปพัฒนานโยบายใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบในวงกว้างได้ ซึ่งถ้าคำนวณ SROI (Social Return on Investment) ผมคิดว่าน่าจะเกิดความคุ้มค่ามาก ๆ หลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับมูลค่าการลงทุนที่ใช้ไป ทั้งนี้ ผมขอชื่นชม BMW และพันธมิตรทั้ง 7 องค์กรที่ได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา และขอเชียร์ให้ทำโครงการนี้ต่อไปอย่างเนื่อง และนำมาขยายผล ทุก ๆ ปีต่อไปนะครับ โดยผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแข่งขันในปีต่อ ๆ ไป จะมีพันธมิตรที่มาจากหน่วยงานของรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อมาช่วยทำให้เราทุก ๆ คนเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน.