“เรามีแนวคิดว่า…ลูกเราเป็นเด็กได้ครั้งเดียว ก็เลยเลี้ยงเขาแบบเต็มที่ เพราะพอเขาโตขึ้น เดี๋ยวเขาก็ไม่เอาเราแล้ว ไม่ใช่เราเสียสละให้ลูกนะ เรากอบโกยเอาความสุขจากลูกมากกว่า” เสียงใส ๆ ของ “คุณแม่ยุคใหม่” เจ้าของเฟซบุ๊คเพจ “Mama Honda” ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.5 หมื่นคน ที่ชื่อ “ฮอนด้า-เพชรภรณ์ เชิงวิวัฒน์กิจ” เผยแนวคิดนี้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยด้วยวัย 32 ปีของคุณแม่รายนี้ ก็คงไม่ผิดที่เราจะยกให้เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มคุณแม่ยุคใหม่ ที่นอกจากแนวคิดการเลี้ยงดูลูกของเธอจะน่าสนใจแล้ว เรื่องราวความเป็นมาของชีวิตเธอก็น่าสนใจ ที่วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับคุณแม่รายนี้กัน…

“เพชรภรณ์ เชิงวิวัฒน์กิจ” หรือชื่อเล่น “ฮอนด้า” เธอเป็น “คุณแม่ลูกแฝด” ซึ่งเธอบอกเล่าชีวิตให้ฟังว่า เป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตมาในครอบครัวซึ่งมีลูก ๆ รวม 4 คน ซึ่งเธอเป็นลูกคนโต มีน้องชายที่เป็นฝาแฝด กับน้องสาวอีก 1 คน โดยคุณพ่อคุณแม่นั้นทำธุรกิจร้านท้อง สำหรับประวัติการศึกษาของเธอนั้น เธอเรียนจบปริญญาตรีใบแรกจากคณะวิศวอุตสาหการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับใบที่ 2 จาก Nottingham University  ประเทศอังกฤษ จากนั้นจึงเรียนต่อปริญญาโทอีก 2 ใบ โดยปริญญาโทใบแรกเป็นด้านวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ และใบที่ 2 ได้จาก Johns Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใบที่ 2 เธอเรียนทางด้านพัฒนาการสมองและการศึกษา …ดูกันที่เรื่องราวการศึกษาก็น่าสนใจไม่น้อยแล้ว

สำหรับ “ชีวิตคู่” นั้น ฮอนด้า เล่าว่า เธอแต่งงานกับสามีคือ  “Danny Hwang” ซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อชาติเกาหลี หลังจากนั้นก็ให้กำเนิด “ลูกชายฝาแฝด” ซึ่งตอนนี้ลูก ๆ ของเธออายุได้ 2 ขวบแล้ว โดยลูกแฝดคนหนึ่งชื่อ “น้องไทสรรค์” อีกคนชื่อ “น้องเทวินทร์” ซึ่งลูกของเธอสามารถพูดได้ 4 ภาษา คือ อังกฤษ จีน เกาหลี และเวียดนาม ส่วนอาชีพของเธอกับสามีนั้น ปัจจุบันทำธุรกิจโรงเรียนนานาชาติชื่อ True North School  อยู่ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งตอนนี้มีนักเรียนราว 200 คน และนอกจากนั้นเธอยังลงทุนเปิดโรงเรียนเสริมทักษะชื่อ point avenue ซึ่งมีสาขาทั้งในไทยและที่เวียดนาม

โฟกัส “ที่มาของชื่อเล่น” ที่ชื่อ “ฮอนด้า” เธอเล่าให้ฟังว่า ที่เธอชื่อนี้เพราะตอนที่คุณแม่ท้องเธอซึ่งเป็นลูกคนแรก คุณพ่อได้ซื้อรถฮอนด้าเป็นของขวัญให้กับคุณแม่ เพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่ต้องขึ้นรถเมล์ คุณแม่ก็เลยตั้งชื่อลูกที่อยู่ในท้องตามของขวัญที่คุณพ่อซื้อให้ ซึ่งก็มีคนแซวตลอดว่า ถ้าคุณพ่อซื้อรถซาเล้งให้คุณแม่ ป่านนี้เธอก็คงจะได้ชื่อว่าซาเล้งไปแล้ว

“หลังเรียนจบจาก Cambridge เราก็ไปทำงานเป็นติวเตอร์สอนหนังสือที่จีน จนได้พบกับแฟนคือคุณแดนนี หลังทำงานมาสักพักก็เริ่มรู้สึกว่าชอบด้านการศึกษา จึงคุยกับแฟนว่าอยากลองทำอย่างอื่นที่นอกจากอาชีพติวเตอร์ดูบ้าง ช่วงนั้นเลยไปเรียนภาษาเกาหลีที่ประเทศเกาหลี อีกอย่างก็เพื่อเตรียมตัวแต่งงานด้วย จนเราได้ไปเจอกับเจ้าของเพลงเบบี้ชาร์ค ซึ่งตอนนั้นเพลงนี้ดังที่เกาหลีอยู่แล้ว แต่เจ้าของเพล

เขาอยากให้ดังไปทั่วโลก และอยากให้มีหลาย ๆ ภาษา เราขอทำเพลงนี้ให้ดังในฝั่งของเอเชีย ทางเขาก็ตกลง ซึ่งตอนนั้นเพลงนี้คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก เราก็ปลุกปั้นทำให้เพลงนี้ดังที่ไทย พอดังปุ๊บ เราก็เลยของกับทางเจ้าของเพลงนี้ว่าเราจะเอาเข้าไปขายกับทางเอเชียบุ๊กและอมรินทร์ เจ้าของเพลงก็ตกลง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าด้านได้อายอด ซึ่งจากประสบการณ์นี้ ทำให้รู้ว่าต้องกล้าไว้ก่อน ก็ดีใจที่เพลงนี้ประสบความสำเร็จ เด็ก ๆ รู้จักเพลงนี้และร้องกันได้” เธอเล่าย้อนหลังแต่งงาน สามีของเธออยากย้ายจากจีนไปเวียดนาม อยากทำโรงเรียนเด็กประถมและมัธยม เธอก็ตกลงร่วมทำโรงเรียนนี้ และด้วยความที่เธอกับสามีชอบการวิ่ง กิจกรรมแอดเวนเจอร์ กีฬาเอ็กซ์ตรีม เช่น วิ่งมาราธอนระยะต่าง ๆ ปีนเขา เธอและสามีจึงมักจะร่วมลงแข่งรายการต่าง ๆ ตั้งแต่วิ่งมาราธอน อัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตร หรือแม้แต่รายการไอรอนแมน

“พอทำโรงเรียนเสร็จปุ๊บ เราก็อยากมีน้อง ทีนี้พอมีน้อง เราก็คุยกับสามีว่าเราจะต้องแบ่งงานกัน โดยเราจะเลี้ยงลูกฟูลไทม์ ส่วนสามีก็ทำงานเป็นหลัก คือบริหารโรงเรียนนานาชาติ ขณะที่เราก็โฟกัสกับลูก ๆ เพราะเราอยากเลี้ยงลูกเอง อยากทำ Home School โดยมีแม่บ้านคอยช่วยหนึ่งคน แต่หลายคนที่เห็นเราใช้เวลากับลูกแฝดมาก ๆ จะบอกว่าเราติดลูก ซึ่งก็จริง เพราะเรามีแนวคิดว่า เด็กเป็นเด็กได้แค่ครั้งเดียว เราก็เลยเต็มที่เลย จะได้ไม่เสียใจภายหลัง แต่ก็ไม่ใช่เราเสียสละให้ลูก เป็นเราเสียอีกที่กอบโกยจากเขามากกว่า” เธอย้ำแนวคิดการเลี้ยงดูลูกของเธอ

ฮอนด้า ยังบอกเล่าอีกว่า คนอาจจมองไลฟ์สไตล์ของเธอว่าชอบเที่ยว เนื่องจากเห็นเธอเดินทางไปต่างประเทศบ่อย แต่ในความเป็นจริง คือไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว เนื่องจากต้องอยู่คนละประเทศ คือสามีอยู่เวียดนาม คุณปู่คุณย่าอยู่เกาหลี ส่วนคุณตาคุณยายอยู่ที่เมืองไทย เธอจึงต้องพาลูก ๆ ไป ๆ มา ๆ วน ๆ กันไป จึงมองดูเหมือนว่าเธอเดินทางอยู่ตลอด ซึ่งส่วนตัวแล้ว เธอมองว่าก็สนุกดี อีกทั้งถือเป็นโชคดีของเด็ก ๆ ที่จะได้ประสบการณ์ที่หลากหลายตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

“แม้จะอยู่กันคนละประเทศ แต่ก็มีความสุขดีนะ ซึ่งลูกแฝดวัย 2 ขวบของเราทั้ง 2 คน เราวางแผนให้เจอครอบครัวทุกคน ซึ่งจนถึงตอนนี้น่าจะไปมาแล้วถึง 14 ประเทศ ลูก 2 ขวบเที่ยวมา 14 ประเทศ เพราะอากงอาม่าชอบเที่ยว อีกอย่างอากงอาม่าต่างก็ติดหลาน ก็เลยอยากให้ไปด้วย เราเลยได้ไปเที่ยวด้วย… ซึ่งตอนลูก ๆ ยังอายุไม่ถึง 2 ขวบ ไปไหนก็คุ้มมาก เพราะค่าตั๋วค่าที่พักฟรีหมด เรียกว่าคุ้มสุด ๆ เพราะไป 3 ชีวิต แต่จ่ายแค่คนเดียว” คุณแม่สายตรองเจ้าของเพจ “Mama Honda” เล่าอย่างอารมณ์ดี และด้วยความที่ชอบกระเตงลูกแฝดไปไหนมาไหนตลอด จึงเกิดแฮซแท็กที่ใช้ประจำ อย่าง #กระเตงแฝดตะลุยฟัด ซึ่งฮอนด้าบอกว่า มักจะมีคนถามว่าพาลูกกระเตง ๆ ไปที่ต่าง ๆ ไม่กลัวพลัดหลงหรือเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือ ซึ่งเธอมองว่าอุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ อยู่บ้านเฉย ๆ ก็เกิดได้ ซึ่งวันหนึ่งเขาก็ต้องออกไปเจอโลกอยู่แล้ว การที่เราพาเขาออกไปเร็วขึ้นอีกนิด จึงน่าจะดีกับเด็ก ๆ ด้วยซ้ำ ที่ได้ออกไปสัมผัสความหลากหลายของโลกใบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ

“การที่เขาได้เจอคนเยอะ เจอสภาพแวดล้อมหลากหลาย ช่วยให้เขาเป็นเด็กที่ปรับตัวได้ไว ซึ่งเวลาที่พาเด็ก ๆ ไปท่องเที่ยว เขาจะสนุกสนาน จะมีความสุขมาก ซึ่งก่อนคลอดเราทั้งเครียดทั้งร้องไห้หนักมาก เพราะชีวิตเราก่อนมีลูกคือได้ทำงาน ได้เที่ยว ได้เล่นกีฬา ได้ใช้ชีวิตกับสามี ทำให้เรากลัวว่าถ้ามีลูกแล้วเขาจะมาดึงเวลาชีวิตเราหรือเปล่า ชีวิตจะเปลี่ยนไปขนาดไหน และลูกเกิดมาแล้วเราจะเอาลูกยัดเข้าท้องกลับไปก็ไม่ได้ด้วย (หัวเราะ) ก็ปรึกษาคนรู้จัก เขาก็บอกมันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ต้องกลัว ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิม แค่เอาลูกไปด้วย ก็เลยกลายเป็นความสุขแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา” เธอเผยความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังมีลูก

ส่วน “การเตรียมตัวเมื่อต้องพาลูกแฝดเดินทาง” นั้น คุณแม่ยุคใหม่รายนี้บอกว่า เมื่อต้องเดินทางไปไหน เธอก็ต้องวางแผนและเตรียมของเยอะมาก แต่ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากชินแล้ว และเด็ก ๆ ก็จะมีตารางชีวิตประจำวันไว้ อาทิ 9 โมงตื่น, 10 โมงอาบน้ำ, เที่ยงกินข้าว, บ่าย 2 นอน จึงง่ายต่อการใช้ชีวิต… “หากทำตามตารางเวลาที่วางไว้ได้ มันก็โอเคแหละ แต่ถ้าตารางพลาดไปสักอย่างนี่ เรียกว่าชีวิตวุ่นเลย เพราะจะรวนไปหมดเลยค่ะ” เธอบอกเรื่องนี้อย่างอารมณ์ดี

ขณะที่เรื่อง “การเรียนของลูก” นั้น เรื่องนี้เธอยอมรับว่า ก็คิดหนักเหมือนกันว่าอยากให้ลูกเรียนที่โรงเรียนตัวเองหรือเปล่า ซึ่งเธอมองว่า ไม่อยากให้ลูกอยู่ในวังวนพ่อแม่มากจนเกินไป อยากให้ลูกได้ลองได้ทำอะไรที่แตกต่างจากตอนที่อยู่กับพ่อแม่บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องได้เรียนรู้ อีกอย่างถ้าอยู่โรงเรียนตัวเอง เด็กก็จะวางตัวลำบาก ครูเองก็เกร็ง แต่สามีคิดอีกมุม โดยเขามองว่า ตั้งใจสร้างโรงเรียนขึ้นมา ตั้งใจที่จะทำโรงเรียนนี้เป็นที่สุด แล้วทำไมจะไม่ให้ลูกของตัวเองเรียนล่ะ… “ตอนนี้ก็เลยยังคิด ๆ กันอยู่ค่ะ ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ คงใช้เวลาคิดกันอีกสักพักถึงจะได้คำตอบ” คุณแม่ยุคใหม่รายนี้บอก

ทั้งนี้ “ฮอนด้า-เพชรภรณ์” คุณแม่ยุคใหม่ แถมยังเป็น “คุณแม่สายสตรอง” เผยกับ “ทีมวิถีชีวิต” ด้วยว่า ครอบครัวของเธอ พ่อ-แม่-ลูก ถือว่าเป็น “ครอบครัวสายแอดเวนเจอร์” ก็ว่าได้ ทั้งสามี ทั้งเธอ และลูกทุกคน ชอบกิจกรรมรูปแบบนี้เหมือนกัน และด้วยความที่คนอื่นเห็นเธอ “เลี้ยงลูกแบบสายลุย” แล้วก็ดูมีความสุข จึงมักถูกถามถึงเคล็ดลับ ซึ่งเธอก็จะตอบกลับไปว่า “ให้เริ่มจากมุมมองคุณแม่” เพราะสำคัญมาก จากนั้น “คุณแม่ต้องมีความสุขเสียก่อน” เพราะบางครั้งคนเป็นแม่มักจะคิดถึงแต่ลูก จนลืมว่าตัวเองต้องสุขก่อน ลูกจึงจะแฮปปี้ด้วย ต่อไปคือ “ไม่เรียกร้องบุญคุณ” จากการเสียสละตัวเอง แล้วพอลูกโตขึ้น ถ้าลูกไม่ได้ดั่งใจ บางคนมักโวยวายหรือเสียใจ แต่เธอจะไม่ใช่… ส่วนวันนี้ ถ้าอยากทำ จะทำเลย เพราะ…ไม่อยากเสียใจ-เสียดายเวลาชีวิต…ที่จะได้มีความสุขร่วมกับลูก.

‘ดูปากณัชชานะคะ’ คือ ‘ไอดอล’

“ฮอนด้า-เพชรภรณ์” ยังบอกด้วยว่า “มุมมองการเลี้ยงลูกยุดดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญมาก” โดยเธอเอง ได้แนวคิดจาก “ครอบครัวน้องณัชชา” เจ้าของวลีฮิตติดหู… “ดูปากณัชชานะคะ” เพราะน้องณัชชามาเป็นลูกศิษย์ ซึ่งเธอเคยฟังแนวคิดของ “คุณพ่อบ๊อบ-ณัฐธีร์ ที่บอกว่า ตอนลูกยังเด็ก พ่อแม่เป็นผู้ปกครองจึงต้องใส่ใจดูแลลูกให้เต็มที่ แต่พอถึงจุดหนึ่ง พอลูกอายุ 12-13 ปี จนเข้าสู่ช่วงเป็นวัยรุ่น พ่อแม่จะเป็นแค่ผู้ประคอง คือประคองพาเขาไป ดังนั้น ช่วงที่ลูกยังเด็กพ่อแม่จึงต้องเต็มที่ในการสร้างพัฒนาการต่าง ๆ ให้ลูก เพื่อที่เมื่อลูกโตขึ้นเขาจะได้กล้าคิดกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง… “น้องณัชชาเป็นเด็กที่มีคาแรคเตอร์ดีมาก ความคิดก็ดีมาก เพราะตอนเด็ก ๆ น้องเจอชาเลนจ์จากคุณพ่อบ๊อบเยอะมาก เช่นให้ไปขายแซนวิช ให้ไปเป็นนักดับเพลิง เราก็เลยคิดได้ว่าประสบการณ์วัยเด็กสำคัญ ยิ่งเขามีประสบการณ์เยอะ พอโตเป็นผู้ใหญ่เขาก็จะได้เอาไปดัดแปลงใช้ได้ โดยพ่อแม่ก็เป็นแค่คนประคองชีวิตเขา แต่ไม่ใช่คนกำหนดชีวิต”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน