ก่อนการปะทุของสงครามกลางเมืองในซีเรีย เมื่อปี 2554 และยังคงยืดเยื้อจนถึงตอนนี้ ดามิริยาเป็นเจ้าของรังผึ้ง 110 รัง ในหมู่บ้านรันคุส ใกล้กับกรุงดามัสกัส ซึ่งเคยเต็มไปด้วยสวนแอปเปิล ทว่าในตอนนี้ การผสมผสานระหว่างการสู้รบ ภัยแล้งรุนแรง และวิกฤติเศรษฐกิจแสนทรหด ทำให้ดามิริยามีรังผึ้งเหลือแค่ 40 รังในที่ดินกึ่งแห้งแล้ง ซึ่งทำลายผลผลิตนํ้าผึ้งของเขา

อนึ่ง หมู่บ้านรันคุส เคยขึ้นชื่อในเรื่องนํ้าผึ้ง แต่การต่อสู้ระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกลุ่มกบฏ ทำให้เกิดการทำลายล้าง
ในวงกว้าง จนชาวบ้านจำนวนมากต้องหนีออกไป

แม้ดามิริยาได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือคนเลี้ยงผึ้งชาวซีเรีย จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) แต่ปัจจุบันเขาแทบไม่มีเงินพอที่จะดูแลรังผึ้งแล้ว ซึ่งหากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและราคาสินค้าพุ่งสูงยังคงดำเนินต่อไป ดามิริยาอาจจำเป็นต้องละทิ้งอาชีพของเขา

ด้าน “อิยาด ดาบูล” ประธานสหภาพคนเลี้ยงผึ้งอาหรับ ระบุว่า ก่อนเกิดสงคราม ซีเรียมีรังผึ้งราว 635,000 รังทั่วประเทศ แต่ตัวเลขข้างต้นลดลงจนเหลือประมาณ 150,000 รัง ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงที่สุด เมื่อปี 2559

แม้ขณะนี้จำนวนรังผึ้งจะเพิ่มกลับมาเป็นประมาณ 400,000 รัง กระนั้น รังผึ้งก็ยังให้ผลผลิตนํ้าผึ้งได้เพียง 1,500 ตันต่อปี ซึ่งนับเป็นครึ่งหนึ่งของการผลิตนํ้าผึ้งในช่วงก่อนเกิดสงคราม

ยิ่งไปกว่านั้น ฤดูใบไม้ผลิที่หนาวเย็นและภัยแล้งที่ผิดปกติ ล้วนส่งผลเสียต่อดอกไม้ที่ผึ้งดูดนํ้าหวาน ขณะที่ดาบูลกล่าวเสริมว่า จำนวนคนเลี้ยงผึ้งในซีเรีย ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่ 32,000 คนในช่วงก่อนสงคราม เหลือประมาณ 18,000 คนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภัยคุกคามต่อผึ้งอีกประการหนึ่ง คือ ไฟป่า ซึ่งเกิดบ่อยครั้งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น โดยไฟป่าทำลายรังผึ้งบนภูเขาชายฝั่งมากกว่า 1,000 รัง รวมถึงแหล่งหาอาหารขนาดใหญ่สำหรับผึ้ง อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่สีเขียวของซีเรีย ทำลายพืชหลายชนิด และสร้างความเสียหายต่อภาคส่วนเกษตรกรรม ที่เคยเจริญรุ่งเรือง

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำลายแหล่งอาหารสำคัญหลายแห่งของผึ้ง ดังเช่นสวนแอปเปิลของนายซิอาด รันคูซี เกษตรกรชาวซีเรีย ซึ่งมีต้นแอปเปิลบนที่ดินแค่ 400 ต้น และพวกมันกำลังเหี่ยวตายท่ามกลางความร้อน

“เมื่อต้นไม้และดอกไม้หายไป ผึ้งก็จะไม่สามารถหาอาหารได้ และพวกมันจะอพยพ หรือตายไป” รันคูซีกล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ “ซูแฮร์ ซักคูต” โฆษกของไอซีอาร์ซีประจำกรุงดามัสกัส กล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตรของซีเรียลดลงประมาณ 50% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการขาดเงินทุนที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม.