ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงแรงงาน…กับการ “หาคนทำงาน-รับสมัครงาน” ที่ยุคนี้ทำผ่านออนไลน์ได้ด้วย เมื่อมี “ผลสำรวจ” ออกมา…นอกจากสะท้อนเทรนด์เกี่ยวกับงานต่าง ๆ แล้ว ก็ยัง “สะท้อนโอกาสการมีหรือไม่มีงานทำของคนไทย” ได้ระดับหนึ่งด้วย และวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเรื่องนี้มาสะท้อนต่อ…

ผลสำรวจตลาดแรงงานไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ด้วยระบบ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะการประกาศหางานออนไลน์ พบว่า… มีการเปิดรับสมัครงานลดลง 2 หมื่นตำแหน่ง อีกทั้งยังพบว่ามีตำแหน่งงานลดลงและกระจุกตัวอีกด้วย” …นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลโดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ภายใต้ โครงการ “วิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ผ่านระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย ซึ่งเปิดเผยไว้ผ่านเว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ที่สะท้อนตลาดแรงงาน ปี 2566 ที่มีการประกาศรับสมัครงานลดลง-กระจุกตัว…

สถานการณ์นี้…“น่ากังวลหรือไม่??”

ทั้งนี้ ข้อมูลเรื่องนี้เป็นผลงานทีมนักวิจัยทีดีอาร์ไอ นำโดย วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ และ ฐิติรัตน์ สีหราช ที่นำระบบ Big Data และการวิเคราะห์ด้วย AI มาใช้พัฒนาระบบ “ติดตามการจ้างงาน” เพื่อจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงาน เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะ และทักษะต่าง ๆ ที่นายจ้างต้องการ โดยติดตาม “วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานผ่านออนไลน์” ของนายจ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย และสถาบันอาชีวศึกษาต่าง ๆ ในการที่จะผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานต่อไป …นี่เป็นวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการวิจัยนี้

และเกี่ยวกับรายละเอียดผลสำรวจนั้น ทางทีมวิจัยได้มีการเปิดเผยข้อมูลไว้ โดยสังเขปมีว่า… หลังจากทางโครงการได้มีการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประกาศหางานจาก 14 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ  ได้แก่ 1.เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 2.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ และ 3.เว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 (1 เม.ย. ถึง 30 มิ.ย.) นั้น พบว่า… มีการประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 154,595 ตำแหน่งงาน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก ที่มีการลงประกาศรับสมัครงานทั้งหมดจำนวน 178,159 ตำแหน่งงานแล้ว ก็สะท้อนว่า…

จำนวนตำแหน่งงานมีการปรับตัวลดลง

ข้อมูลในส่วนการ “จำแนกตามวุฒิการศึกษา” ที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงาน พบว่า… วุฒิการศึกษาที่มีการประกาศรับสมัครงานมากที่สุดคือปริญญาตรี โดยในช่วงดังกล่าวมี 57,834 ตำแหน่งงาน หรือคิดเป็น 37.4% รองลงมาคือไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ มีจำนวน 42,865 ตำแหน่งงาน หรือคิดเป็น 27.7% โดยวุฒิการศึกษาที่มีการลงประกาศรับสมัครน้อยที่สุดคือสูงกว่าปริญญาตรี ที่พบเพียง 1,573 ตำแหน่งงาน หรือคิดเป็น 1% …นี่เป็นตัวเลขสะท้อนระดับวุฒิการศึกษา…

เป็นตัวเลขเพื่อใช้วางแผนผลิตแรงงาน

ส่วนกับคนหางานทำก็ยังมีปัจจัยอื่นอีก

ทั้งนี้ กับการ “จำแนกตามภูมิภาค” ที่ลงประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์นั้น พบว่า… กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนลงประกาศรับสมัครงานไว้มากที่สุด โดยช่วงดังกล่าวพบ 103,583 ตำแหน่งงาน (67%) ตามมาด้วย ไม่ระบุภูมิภาค 26,345 ตำแหน่งงาน (17%) ภาคตะวันออก 9,924 ตำแหน่งงาน (6.4%) ภาคใต้ 5,394 ตำแหน่งงาน (3.5%) ภาคกลาง 4,023 ตำแหน่งงาน (2.6%) ภาคเหนือ 3,199 ตำแหน่งงาน (2.1%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,634 ตำแหน่งงาน (1.1%) และ ภาคตะวันตก อยู่ในอันดับสุดท้าย คือ 493 ตำแหน่งงาน (0.3%) …นี่เป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าตำแหน่งงานนั้น…

“กระจุกตัว” ใน “กรุงเทพฯ-ปริมณฑล”

ในขณะที่การ “จำแนกตามกลุ่มประเภทธุรกิจ” ที่มีการประกาศรับสมัครงานไว้ พบว่า… ธุรกิจขายส่งและขายปลีก กับธุรกิจซ่อมยานยนต์-จักรยานยนต์ มีการลงประกาศรับสมัครงานมากที่สุด คือ 27,583 ตำแหน่งงาน (17.8%) และกลุ่มประเภทธุรกิจที่รองลงมาใน 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ กลุ่มที่ไม่สามารถระบุได้ มีจำนวน 24,834 ตำแหน่งงาน (16.1%) ธุรกิจการผลิต มีจำนวน 18,423 ตำแหน่งงาน (11.9%) และ กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค มีจำนวน 14,634 ตำแหน่งงาน (9.5%) …นี่เป็นผลสำรวจที่ทางทีมวิจัยพบ โดยอ้างอิงจากระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นอกจากนี้ เมื่อ “วิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์-AI” เพื่อจำแนกกลุ่มอาชีพ พบข้อมูลใน 5 อันดับแรก ว่า… กลุ่มอาชีพการตลาดมีประกาศรับสมัครงานมากที่สุด คืออยู่ที่ 28,535 ตำแหน่งงาน (18.5%) ตามมาด้วย กลุ่มอาชีพบัญชีและการเงิน 27,143 ตำแหน่งงาน (17.6%) ช่างเทคนิค 20,834 ตำแหน่งงาน (13.5%) วิศวกร 19,472 ตำแหน่งงาน (12.6%) งานไอที 12,836 ตำแหน่งงาน (8.3%) …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ที่ ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ทำการสำรวจ วิเคราะห์ และเผยแพร่ไว้ ที่ช่วย “ฉายภาพตลาดแรงงานไทย” ซึ่งก็รวมถึง… บ่งชี้ว่าคนไทยกลุ่มใด-พื้นที่ใด…มีโอกาสมีงานทำต่ำ??…

หาก “รัฐบาลใหม่สนใจข้อมูล” เหล่านี้…

พิจารณา “เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ”…ข้อมูลนี้ “จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย”.