ทั้งนี้ กับเรื่องการเมืองนั้นก็ว่ากันไป-ก็รอดูความชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ กันต่อไป??… อย่างไรก็ตาม หากจะโฟกัสกันที่พฤติกรรม “เป็นใบ้ชั่วคราว” แล้วล่ะก็…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนต่อให้ลองพิจารณากัน… ซึ่งนี่เป็น “เรื่องจริงไม่อิงการเมือง”…

“เป็นใบ้ชั่วคราว” ที่ “มิใช่ไม่ยอมพูด”…

“เชื่อหรือไม่??” นี่ “เป็นภาวะ-เป็นโรค”

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกระแสข่าวกรณีนี้…

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดกระแสถกเถียงระคนดราม่าไปทั่วโลก หลังมีกรณี ดีเจสาวชาวเอเชียรายหนึ่งถูกลวนลาม ขณะพบปะแฟนคลับ โดยหลังดีเจสาวโพสต์เรื่องนี้ก็ทำให้เกิด “ดราม่า” เมื่อมีคนโทษว่าสาเหตุที่ถูกลวนลามเพราะภาพลักษณ์เซ็กซี่ของเธอ ซึ่งดีเจสาวก็ออกมาตอบโต้ว่า…ไม่คิดว่ายุคนี้ยังมีคนที่มีแนวคิดเช่นนี้อยู่ พร้อมเผยเรื่องช็อกแฟนคลับ โดยเธอเผยเรื่องราวการ “ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดในวัยเด็ก” ซึ่งไม่เคยบอกใครแม้แต่กับพ่อแม่ เนื่องจากกลัวคนที่เธอรักจะเจ็บปวด โดยเธอระบุว่าหลังเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าวทำให้เธอตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “selective mutism” หรือ “โรคใบ้ชั่วคราว” ที่สามารถ “เกิดกับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ มา” โดยทำให้“พูดไม่ได้ชั่วคราว” หรือ “พูดได้ก็แค่กับบางคน-บางโอกาส”

ภาวะ “selective mutism” ที่มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า “โรคใบ้ชั่วคราว” นี้ มีข้อมูลใน สารานุกรมศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่อธิบายไว้ว่า… การเลือก เป็นใบ้บางโอกาส หรือ selective mutismหมายถึง การที่บุคคลไม่พูด หรือพูดไม่ได้บางสถานการณ์ บางเวลา บางสถานที่ ทั้งที่มีความสามารถในการพูดและเข้าใจในสถานการณ์ โดยที่ มักจะพบในเด็กเล็กเมื่อเริ่มเข้าเรียน ซึ่งเมื่อเด็กไปอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่ หรือรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ก็จะ กังวล กลัว หรือเครียด จนทำให้พฤติกรรมถดถอย… จนอาจไม่ยอมโต้ตอบหรือ “ไม่ยอมพูด” เลย!!…

ทำให้บางคนอาจเข้าใจผิดว่า “เป็นใบ้”

กับ“โรคใบ้ชั่วคราว” ที่ว่านี้ ทาง สุชาวดี พัฒนผลสุขุม นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย สถาบันราชานุกูล ก็ได้อธิบายผ่านบทความ“selective mutism ในเด็ก” ไว้ว่า… แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่… ประเภทที่ 1 ไม่พูดชั่วคราวเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย (transient mutism) โดยเด็กจะไม่พูดในสัปดาห์แรก หรือเดือนแรก ๆ แต่อาการจะค่อย ๆ ลดลง และหายได้เองในที่สุด, ประเภทที่ 2 ไม่พูดหลังจากย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ (migrant children) ที่มักเกิดในเด็กที่ใช้ 2 ภาษา โดยมักจะขาดความมั่นใจ เมื่อต้องย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งถ้าไม่เฝ้าสังเกตใกล้ชิด อาการอาจพัฒนาไปสู่การไม่พูดอย่างถาวร!!

ประเภทที่ 3 มีภาวะร่วมกับกลุ่มอาการอื่น (secondary to other conditions) ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับกลุ่มอาการอื่นโดยเป็นอาการรองลงมา มีลักษณะเด่นคือมักมีพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการพูด และประเภทที่ 4 ไม่พูดอย่างถาวร (persistent mutism) โดยเด็ก ๆ กลุ่มนี้มักจะ ไม่พูดเลยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และอาการนี้มักจะลดลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น ซึ่งลักษณะเด่น ๆ ของเด็กกลุ่มนี้คือมักจะรู้สึกวิตกกังวลมากกว่าปกติตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าสังคม …เหล่านี้เป็นข้อมูลสังเขป

นี่คือประเภท-ลักษณะ “โรคใบ้ชั่วคราว”

สำหรับ“แนวทางการรักษา” ก็จะแตกต่างไปตามอาการ โดยมีข้อมูลแนวทางโดยสังเขปดังนี้คือ… นำเด็กเข้ารับการประเมิน โดยเฉพาะเมื่อไม่ยอมพูดนานกว่า 2 เดือน, เลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็ก กรณีที่เด็กมักหลีกเลี่ยงการฝึกทักษะ ซึ่งเป็นเพราะคิดว่ายากเกินไป, หลีกเลี่ยงการให้รางวัลหรือลงโทษ ซึ่งเด็กที่มีภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องปรับพฤติกรรม ฉะนั้นการลงโทษเด็กจึงไม่มีผลต่อการรักษา ที่สำคัญ…นอกจากห้ามลงโทษแล้วยังห้ามชมเมื่อเด็กพูดต่อหน้าสาธารณชนด้วย

พาเด็กออกจากจุดสนใจของผู้คน นี่ก็แนวทาง เพื่อลดความรู้สึกอึดอัดของเด็กจนทำให้เครียด วิตกกังวล จนทำให้ไม่อยากพูด ควรพาเด็กไปทักทายคนอื่นเมื่อเด็กพร้อม, ใช้การสนทนาทางอ้อม ด้วยการให้เด็กพูดคุยผ่านของเล่น, อนุญาตให้เด็กใช้ภาษาท้องถิ่นได้ กับเด็กที่มี 2 วัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้เด็ก, ให้เด็กคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อขจัดความกลัว และ ให้เด็กเล่าเรื่องด้วยตัวเอง เพื่อให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของเด็ก …นี่ก็อีกแนวทางบำบัดรักษาภาวะนี้-โรคนี้

และกับ โรคใบ้ชั่วคราว นี้ มีข้อมูลว่าก็“เกิดกับผู้ใหญ่ได้” โดยผู้มีภาวะอาการนี้ ถือเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถพูดคุยได้ตามปกติ โดยเฉพาะ เมื่อตกอยู่ในบางสถานการณ์ หรือกับบางคน หรือกับบางกลุ่ม เนื่องจากรู้สึกเหมือนกำลัง “ติดกับ” ซึ่งผู้ใหญ่ที่มีภาวะนี้จะกระทบชีวิตมากกว่าวัยเด็ก เพราะจะไม่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ…

ทั้งนี้ “การรับมือภาวะใบ้ชั่วคราว” ก็มีข้อมูลใน www.parentsone.com ที่ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า… การที่ผู้อื่นช่วยเหลือหรือแก้ตัวให้ผู้ที่มีภาวะนี้จะทำให้การบำบัดรักษายิ่งยากขึ้น เพราะเท่ากับส่งเสริมให้ปฏิเสธการพูด ซึ่งกับเด็กนั้นควรเปลี่ยนเป็นการค่อย ๆ สอน แม้ภาวะนี้จะไม่หายไปทันที แต่ก็จะช่วยให้รับมือตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ดีขึ้น…

เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับ “ไม่พูดดีลตั้งรัฐบาล”

“รัฐบาลผสมขั้วที่อัศจรรย์พันลึก” นั้น…

“กับเบื้องลึกคงเป็นใบ้กันอีกนาน…”.