ทั้งนี้ กรณีนี้ “มีเหยื่อ 2 ฝั่ง” คือ “ผู้ที่ถูกปลอมแอคเคาท์” และ “ผู้ที่ถูกหลอกจากแอคเคาท์ปลอม” โดยฝั่งผู้ที่เป็นเหยื่อถูกแอบอ้างส่วนใหญ่จะเป็น “คนดัง-คนมีชื่อเสียง” ซึ่งตกเป็นเป้าหมายใหญ่ในการ “ถูกมิจฉาชีพสวมรอย” ด้วยการนำ“รูปภาพ-แอคเคาท์” ไปใช้ “ลวงเหยื่อให้หลงกล” โดยมีข่าวคนดังทั้งในไทยและในต่างประเทศที่ถูกแอบอ้างลักษณะนี้บ่อย ๆ และวันนี้ทา“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมสะท้อน “วิธีสู้” มิจฉาชีพกลุ่มนี้…

นี่เป็น อีกภัยที่สร้างความเดือดร้อน

ทั้ง กับผู้ถูกแอบอ้าง-กับผู้ที่ถูกหลอก

ที่หลัง ๆ ในไทยเกิดภัยแบบนี้เพิ่มขึ้น

กับ “แนวทางรับมือมิจฉาชีพ” กลุ่มนี้ หรือเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ชวนสงสัยว่า “ถูกปลอมแอคเคาท์-ถูกแอบอ้าง” นั้น ก็มีคำแนะนำจาก กลุ่มภาระงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่สะท้อนแนวทางไว้ผ่านบทความ “ถูกคนอื่นแอบอ้างปลอมเป็นเราบนโซเชียลควรทำอย่างไร? ซึ่งได้แนะนำวิธีรับมือกรณีที่สงสัยว่าจะถูกสวมรอยแอคเคาท์ ไลน์ (Line) หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) เอาไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… ช่วงนี้ในไทยดูจะมีข่าวดารา คนดัง ถูกผู้ไม่หวังดี “ปลอมไลน์-ปลอมเฟซบุ๊ก” บ่อย ๆ และมีผู้หลงเชื่อ-มีเหยื่อจำนวนมาก ซึ่งผู้ถูกสวมรอย“โต้กลับมิจฉาชีพ” ได้…

ผ่านแนวทาง“ปฏิบัติการ 3 แจ้ง”…

คือ…“แจ้งสิทธิ-แจ้งเตือน-แจ้งตำรวจ”

ทั้งนี้ ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้มีการอ้างอิงแนวทางจากทาง “ตำรวจไซเบอร์” หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ได้ให้แนวทางรับมือเรื่องนี้เอาไว้ว่า… หากเกิดกรณี หรือเกิดข้อสงสัยว่าจะมีใคร “ปลอมไลน์-ปลอมเฟซบุ๊ก” เพื่อ “แอบอ้าง” เป็นตัวเรา ก็ให้ดำเนินการ “ปฏิบัติการ 3 แจ้ง” เพื่อเป็นการ “ปกป้องสิทธิ์และป้องกันตัวเองในเบื้องต้น” ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้คือ…

เริ่มจาก “แจ้งสิทธิ” ด้วยการ report ไปที่ผู้ให้บริการระบบ ซึ่งเป็นผู้ดูแลหรือรับผิดชอบ Social Network ที่ตนเองนั้นถูกผู้อื่นแอบอ้าง โดยการแจ้งสิทธิ์นี้ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ… 1.กรณีมีคนสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอม วิธีการแจ้งคือ ให้กด report แจ้งไปยังเฟซบุ๊ก โดยทางระบบจะให้แจ้งปิดเฟซบุ๊กปลอมได้ ด้วยการ คลิกเข้าไปที่เมนูความช่วยเหลือ จากนั้น พิมพ์ “บัญชีปลอม” ที่ช่องค้นหา และ เลือกรายงานบัญชีปลอมที่แอบอ้าง ต่อจากนั้นให้ใส่รายละเอียดที่ต้องแจ้งกับทางเฟซบุ๊กตามที่ทางผู้ดูแลระบบกำหนดมา เมื่อกรอกทุกอย่างเรียบร้อยจึงส่งข้อมูลไป ซึ่งทางเฟซบุ๊กก็จะรับเรื่องเพื่อตรวจสอบ หากตรวจพบว่าเป็นบัญชีปลอมจริง ทางผู้ดูแลระบบก็จะทำการปิดบัญชีปลอมหรือบัญชีที่ถูกสวมรอยแอคเคาท์ดังกล่าวให้…

นี่เป็น“วิธีปฏิบัติในการแจ้งสิทธิ”

กรณีสงสัยว่า“ถูกสวมรอยเฟซบุ๊ก”

ขณะที่การแจ้งสิทธิ์อีกกรณีคือ 2.กรณีพบไลน์ปลอมหรือถูกแอบอ้าง หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นผู้ถูกแอบอ้างสามารถรายงาน หรือ แจ้งกับทางไลน์ได้โดยตรง ผ่านทาง https://contact.line.me/detailId/10557 โดยเมื่อระบบได้รับเรื่องหรือปัญหาที่ได้แจ้งแล้ว ก็จะส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังไลน์สำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาและตรวจสอบต่อไป

นี่ก็เป็น“วิธีปฏิบัติในการแจ้งสิทธิ”

กับกรณี“ถูกปลอมแอคเคาท์ระบบไลน์”

ทั้งนี้ “แจ้ง” อีกอย่างใน “ปฏิบัติการ 3 แจ้ง” ที่ก็ควรต้องทำคือ “แจ้งเตือน” โดยในแหล่งข้อมูลเดิมได้ให้แนวทางเรื่องนี้เอาไว้ว่า…หลังแจ้งรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังผู้ดูแลระบบแล้ว ขั้นตอนต่อมา ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือให้รีบแจ้งเตือนญาติหรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ทันที ว่า…มีความเป็นไปได้ว่าชื่อบัญชีผู้ใช้งานของตนมีผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพนำไปใช้แอบอ้าง ทั้งนี้ ทางเจ้าของแอคเคาท์หรือบัญชีที่ถูกสวมรอยอาจจะทำการแคปเจอร์รูปภาพการสนทนาไว้เป็นหลักฐานประกอบ เพื่อยืนยันกับเพื่อนหรือคนใกล้ตัว แต่มีข้อห้ามที่สำคัญคือ อย่านำไปแชร์ ใน Social Network สาธารณะ หรือแชร์กับคนไม่รู้จัก

เพราะก็เสี่ยง “ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

เสี่ยงผิด“จากการแชร์รูปบัญชีปลอม”

และอีก “แจ้ง”ในหลักปฏิบัติเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเฟซบุ๊กหรือไลน์ นั่นก็คือการ “แจ้งตำรวจ” ซึ่งวิธีการนั้นให้เริ่มจาก รวบรวมหลักฐานที่มีให้ได้มากที่สุด เช่น การแคปเจอร์ภาพหน้าจอสนทนา หรือรูปโพรไฟล์ของบัญชีที่ถูกปลอมขึ้นมา หรือที่ถูกสวมรอย จากนั้นจึง นำหลักฐานที่รวบรวมได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่ หรือ แจ้งกับตำรวจ ปอท. (สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่www.tcsd.go.th) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย 

ณ ที่นี้ก็ร่วมสะท้อนไว้ถึง “วิธีรับมือ”

วิธี “โต้กลับ…ภัยปลอมแอคเคาท์”อีก “ภัยยุคโซเชียล…ที่ต้องสู้!!”.