ประชุมครบทั้ง 3 พื้นที่แล้วสำหรับการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน) เชื่อมเกาะสมุย ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 9 ส.ค. อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และวันที่ 10 ส.ค. อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

แต่เดิมโครงการนี้รับผิดชอบโดยกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามทะเลเส้นทางดอนสัก(สุราษฎร์ธานี)-เกาะสมุย เนื่องจากการเดินทางไปเกาะสมุย ทำได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศ และทางน้ำมีข้อจำกัดไม่สะดวกสบายในการเดินทางและกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว จนประมาณปี 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรมว.คมนาคม มีนโยบายให้กทพ.ดำเนินการแทน เนื่องจากเห็นว่ามีความพร้อมมากกว่าโดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุน

กทพ.จึงนำมาศึกษาต่อให้เป็นทางด่วนเชื่อมเกาะสมุยงบลงทุนประมาณ 2.5-5หมื่นล้านบาท พร้อมศึกษาอีกหนึ่งทางเลือกคือเส้นทาง ขนอม(นครศรีธรรมราช)-เกาะสมุย ซึ่งมีระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางเดิม โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด ระยะเวลาศึกษา 720วัน (24เดือน) สิ้นสุดสัญญาประมาณเดือน มี..2568

เมื่อแล้วเสร็จกทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการต่อไป คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2571 และเปิดบริการปลายปี 2575

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. บอกว่า โครงการนี้ค่อนข้างท้าทาย เพราะมีต้นทุนสูง เนื่องจากก่อสร้างทางด่วนข้ามทะเลสายแรก กทพ. จะพยายามผลักดันโครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ ขอฝากนักการเมืองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย ต้องช่วยกันผลักดันนำเสนอโครงการให้ครม.พิจารณาด้วย กทพ.ฝ่ายเดียวคงผลักดันให้เกิดขึ้นไม่ได้

สำหรับผลการประชุมที่จ.นครศรีธรรมราช เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนโครงการฯ และจะยินดีมากถ้าจุดเริ่มต้นอยู่ที่ขนอม เวลานี้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือ กลัวว่าจะไม่สร้างจุดเริ่มต้นที่ขนอม เพราะก่อนหน้านี้ทั้งรัฐมนตรี และผู้ว่า กทพ. เคยกล่าวผ่านสื่อมวลชนไว้ว่าจะเริ่มต้นที่ขนอม แต่ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม

ชาวนครศรีฯ สะท้อนให้เห็นถึงข้อดี โดยมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดใกล้กว่าที่ดอนสักประมาณ 5 กม. จะช่วยลดงบประมาณก่อสร้างได้ด้วย ที่สำคัญจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้จ.นครศรีธรรมราช มั่นใจว่าอย่างน้อยจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 20-30% ที่ไปเกาะสมุย แวะมาเที่ยวจ.นครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

ส่วนที่ จ. สุราษฎร์ธานี ต่างยินดีให้มีทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย อยากให้มีจุดเริ่มต้นที่ดอนสัก เนื่องจากปลายทางเกาะสมุย อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ดังนั้นต้นทางควรอยู่ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีจะเกิดประโยชน์เชิงปกครองให้ผวจ.สั่งการหรือมีนโยบายรวมทั้งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินการอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันการทำงานจะสะดวกและง่ายกว่าข้ามเขต

ในแง่การท่องเที่ยว ยุทธศาสตร์ของภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมเป็นจังหวัดที่จะเชื่อมฝั่งทะเลตะวันออกไปสู่ทะเลอันดามันที่ จ.ภูเก็ต ขณะนี้งานโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้กำหนดจุดหมายปลายทางมาที่ดอนสักแล้ว เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ และสะดวกในการเดินทาง พร้อมข้อเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะศึกษาทำทางขึ้นลงทางด่วนเป็นจุดเริ่มต้นใน 2 พื้นที่ ทั้งที่ดอนสัก และขนอม เหมือนทางด่วนในกรุงเทพฯ ที่มีทางขึ้นลงหลายจุด

ขณะที่ ชาว อ. เกาะสมุย ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับโครงการ จะเริ่มต้นจุดใดก็ได้ มีบางส่วนที่ยังกังวลเรื่องผลกระทบต่างๆ ขณะที่บางรายเสนอว่าควรเอาจุดกึ่งกลางของขนอม และดอนสัก หรือควรมีทางขึ้นใน 2 พื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทาง ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ความเห็นนี้ได้รับเสียงปรบมือจากคนในที่ประชุมด้วย

บางคนยังระบุด้วยว่า เป็นโครงการที่ดี ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกจะสำเร็จได้ต้องไม่มีการแตกแยก ดังนั้น กทพ. และที่ปรึกษา ต้องชี้แจง และทำความเข้าใจรวมทั้งต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนั้น เชื่อว่าหากทำได้ประชาชนจะเข้าใจ

นายสมพร พัฒนรัฐ ผู้จัดการโครงการฯ ให้รายละเอียดว่า โครงการมีแนวทางเลือกที่เป็นไปได้ 7 เส้นทางจากหลักเกณฑ์ 5 ข้อ 1.ข้อจำกัดด้านกายภาพ 2.การเชื่อมต่อโครงข่ายถนนสายหลัก ให้สอดคล้องกับรูปแบบการเดินทาง 3.มีศักยภาพดึงดูดผู้ใช้ทาง 4.หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน และไม่ขัดขวางทิศทางการพัฒนาของเมือง และ 5.หลักเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม แต่ละเส้นทางมีระยะทางที่แตกต่างกันประมาณ 22-29 กม.

ได้กำหนดเกณฑ์คัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดเป็น 3 ส่วน รวม 150 คะแนน ประกอบด้วย 1.ด้านวิศวกรรมและจราจร 50 คะแนน อาทิ ระยะเวลาการเดินทาง, ความยากง่ายในการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งปัจจุบันและอนาคต, ผลกระทบการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคในทะเลการเข้าออกพื้นที่2.ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน 50 คะแนน อาทิ ค่าก่อสร้าง, ค่าบำรุงรักษา และค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์ 3.ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 50 คะแนน อาทิ ผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์/พื้นที่ป่าไม้ และผลกระทบทางสังคมและคุณภาพชีวิต

ที่ปรึกษาจะศึกษาเปรียบเทียบวิเคราะห์และพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อให้ได้เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดและจะนำมาเสนอในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ประมาณเดือน ธ.ค.นี้

ต้องติดตามว่าในที่สุดแล้วระหว่างอ.ขนอมกับอ.ดอนสักพื้นที่ใดจะเป็นที่รักของเกาะสมุย

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…