นายคมกริช เศรษบุบผา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ สำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44  เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ผ่านระบบทางไกล โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ได้มีมติขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับกลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ หรือ 4,089 ตารางกิโลเมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร จากตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเขตนิเวศอินโดมาลายัน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิศาสตร์ย่อยของพืชพันธุ์สัตว์ป่าหลายเขตมาประจบกัน อีกทั้งยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย และยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก

“สำหรับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จะเน้นรูปแบบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยต่อยอดการเสริมรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น จากของเดิมที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ก็ได้รับความร่วมมือสนับสนุนเป็นอย่างดี ทั้งจากประชาชน ชุมชน องค์กรภาคีต่างๆ โดยในช่วงรับฤดูการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ จะเน้นดำเนินการใน 2 กิจกรรมสำคัญ คือ 1) พัฒนาพื้นที่กางเต็นท์ กิจกรรมล่องแพ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.10 (ห้วยแม่สะเรียง) มีสำนักอุทยานแห่งชาติ รับผิดชอบดำเนินการ และ 2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม ของชุมชนชาวบ้านบางกลอยล่าง โดยจะมีสถาบันการที่มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นผู้ดำเนินการ” ทั้งนี้เพื่อให้มีแผนการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนในระยะยาว

นายคมกริช กล่าวต่อไปว่า “สำหรับแนวทางดำเนินการนั้น สำนักอุทยานแห่งชาติ โดยส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ และส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนแผนงาน ได้มีการลงพื้นที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง เป็นที่เรียบร้อย พร้อมสรุปผลรายงานเบื้องต้น ใน 6 แนวทางดำเนินการสู่การพัฒนาตามแผน ประกอบด้วย 1) กำหนดแผนงานโครงการ โดยการกำหนดกิจกรรม ระยะเวลา พร้อมงบประมาณ ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบและภาพรวมดำเนินงาน 2) การหาแนวร่วม ภาคีเครือข่าย เตรียมความพร้อมของชุมชนในการพัฒนาการกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การฝึกฝีมือและอาชีพต่างๆ การให้บริการการท่องเที่ยว การส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น”

แนวทางที่ 3) การประกอบกิจกรรมล่องแพ ซึ่งต้องประสานกับชุมชน รวมถึงมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการเพื่อกระจายรายได้และผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม 4) การให้บริการพื้นที่ลานกางเต็นท์ จะต้องมีการสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม หรือปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์ที่มีอยู่ ให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสม ซึ่งในส่วนพัฒนาอุทยานแห่งชาติได้ลงพื้นที่สำรวจ และวางแผนในการออกแบบก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 5) จัดระบบป้ายสื่อความหมาย ซึ่งส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ กำลังดำเนินการกำหนดและออกแบบป้ายสื่อความหมายทั้งในส่วนของการติดตั้งบริเวณพื้นที่ลานกางเต็นท์ และบริเวณหมู่บ้าน และ 6) ก่อนที่เริ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว จำเป็นต้องจัดประชุมชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจและหาแนวร่วม ในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการล่องแพ การนำเที่ยวชมหมู่บ้านดูงานจักสานดูงานเกษตรตามแนวพระราชดำริ เยี่ยมสวนผลไม้ เป็นต้น

“จากเป้าหมายสำคัญ คือ ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดังนั้น สำนักอุทยานแห่งชาติ จึงเน้นยึดหลัก การคัดสรร “ของเดิมที่มีอยู่” แล้วสื่อสารกับชาวบ้าน ชุมชน ให้พยายามคิดค้น สร้างสรรค์ สินค้าและบริการ เพื่อปูทางสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชิงนิเวศที่มาช่วยเพิ่มรายได้ และนำผลตอบแทนนั้นมาบำรุงรักษาและจัดการแหล่งท่องเที่ยว ภายใต้ความร่วมมือความรัก หวงแหนและเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว” นายคมกริช กล่าวในที่สุด