…นี่เป็นการระบุของ ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ประธานคณะกรรมการสวนเด็กสุทธาเวชซึ่งยังมีการระบุอีกว่า…“80% ของน้ำหนักสมองของเด็กจะเติบโตเร็วมากตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องแม่… การเจริญเติบโตนี้มีผลมาจากอาหารที่ได้รับ รวมถึงจากการเลี้ยงดู… หากลูกได้รับนมแม่ ควบคู่กับการเลี้ยงดูให้มีการเรียนรู้แบบมีคุณภาพที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย ก็จะยิ่งทำให้สมองเด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ…เรื่องนี้เป็น“เรื่องสำคัญที่ควรสนใจ” ซึ่งทาง“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมานำเสนอ…  

เรื่อง “นมแม่” กับ “การเลี้ยงดูให้เรียนรู้” 

“มีคุณภาพ” จะ “ดีต่อการพัฒนาสมอง”

ทั้งนี้ หลายคนอาจคิดว่าใครเลี้ยงลูกก็โตได้เหมือนกัน…แต่จริง ๆ คือ เด็กช่วง 3 ขวบปีแรกมีประเด็นพัฒนาการสำคัญที่มีความมหัศจรรย์ที่ควรใส่ใจ โดย ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ ขยายความไว้ว่า…เมื่อแรกเกิดสมองทารกจะมีจำนวนเซลล์สมองประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ หลังเกิดนั้นสมองจะเจริญเติบโตจนมีน้ำหนักเพิ่มมาก เป็นผลจากการขยายใยประสาทและการเพิ่มจุดเชื่อมต่อ ซึ่งตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการเจริญเติบโตก็คือการได้รับอาหาร กับประสบการณ์จากการเลี้ยงดู ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของสมองเด็ก และแน่นอนว่า“นมแม่…คืออาหารที่ดีที่สุด” รวมถึง“เลี้ยงดูคู่เรียนรู้…ก็สำคัญที่สุด” ด้วย

มีข้อมูลวิชาการชี้ว่า… ถ้าลูกได้กินนมแม่ ลูกจะมีโอกาสฉลาด ยิ่งได้กินนมแม่มากยิ่งมีโอกาสฉลาดมาก แต่จะมีผลดีมากขึ้นหากลูกได้รับนมแม่ควบคู่กับการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้แบบมีคุณภาพ ทั้งนี้ การเลี้ยงดู การมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ต้องระวังไม่ให้เด็กเกิดภาวะเครียด เพราะความเครียดทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ไม่ดี หากคนที่เลี้ยงดูเด็กแทนแม่ไม่ได้ให้ความรักความเอาใจใส่ที่ดี หรือมีการทำร้ายเด็ก ก็ทำให้เด็กเกิดปัญหาความเครียด และจะฝังลึกอยู่กับเด็กไปอีกนาน

“เด็กวัย 3 ขวบปีแรกแม่ควรได้เลี้ยงลูกเอง เลี้ยงโดยให้นมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรก และให้ได้รับอาหารตามวัยควบคู่นมแม่จนถึง 2 ปีหรือนานกว่า เพื่อสร้างรากฐานสุขภาพสมองที่แข็งแรง ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหัวใจและจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างต้นทุนสุขภาพที่ดี โดยเด็กทารกหลังคลอดถึงอายุ 3 ปีถือว่าเป็นช่วงวัยที่เป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่สำคัญของชีวิต” …นี่ก็ข้อมูลสำคัญในการ “พัฒนาเด็กให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี”

“รากฐานสำคัญในการพัฒนาเด็ก” นั้น…

คือ “นมแม่+เลี้ยงดูคู่เรียนรู้ที่มีคุณภาพ”

แนวคิดการเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบัน มีงานวิจัยและทฤษฎีต่าง ๆ ชี้ว่า…เด็กต้องได้รับการดูแลพัฒนาทุกด้าน โดยเฉพาะสมอง ที่ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่แรกเกิดผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย อย่างไรก็ตาม ด้วยสังคมปัจจุบันที่แม่ซึ่งต้องทำงานจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ก็อาจมีผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดู

เมื่อโฟกัสกันที่ “เดย์แคร์ (Day care)” หรือ สถานพัฒนาเด็ก ทาง ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ ระบุว่า… ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย มีรวมกัน 50,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ก็รับเด็กวัยตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปีขึ้นไป เดย์แคร์ที่รับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมายังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีอยู่ 50 กว่าแห่ง และโรงพยาบาล หน่วยงานต่าง ๆ มีรวมกันราว 1,000 แห่ง ซึ่งกรมอนามัยเห็นความสำคัญในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพสถานพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่ ยังต้องการการสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและการบริหารจัดการ อีกมาก…

เพื่อ “ให้เกิดการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ”

มีคุณภาพ “ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของชีวิต”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร ที่ปรึกษาโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เสริมไว้ว่า… มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ได้จับมือกับคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สร้าง“ต้นแบบสถานพัฒนาเด็กเล็ก” และร่วมมือกับกรมอนามัยที่เชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มี Day care ให้ขยายการรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งต้องพัฒนาบุคลากรอย่างมีคุณภาพ ทั้งพยาบาลที่ดูแลสุขภาพ ครูปฐมวัยที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ บูรณาการการดูแลและการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การเล่นและการช่วยเหลือตนเองของเด็ก และ เชื่อมโยงบุคลากรกับแม่เด็กเพื่อให้เข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของ “นมแม่” ให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และต่อเนื่องด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยถึง 2 ปีหรือนานกว่า เพื่อให้เด็กเติบโตสูงดีสมส่วน รวมถึงมีพัฒนาการสมวัยที่ดี

และทิ้งท้าย ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะร่วมสะท้อนข้อมูลน่าสนใจ จากที่ ผศ.ดร.จริยา ได้ระบุไว้ คือ…“มีการศึกษาพบว่าการลงทุนเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย 6 ขวบปีแรก จะมีผลตอบแทนสูงถึง 6.7-17.6 เท่า ยิ่งลงทุนตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ยิ่งให้ผลคุมค่า และช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าช่วงอายุ 4-5 ขวบ ดังนั้นการจัดระบบบริการ Day care สำหรับเด็กเล็กกลุ่มต่ำกว่า 3 ขวบ จึงจำเป็นทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม…

เป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างรากฐาน

สร้างรากฐานชีวิตเด็กที่ดีในทุก ๆ ด้าน”.