นี่เป็น “หัวใจสำคัญ” ของการนำ “บอร์ดเกม” มาใช้เพื่อ “ฝึกทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนของไทย” ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลเรื่องนี้มาสะท้อนต่อ… เรื่องที่ไม่ใช่ “เกมผู้ใหญ่” ที่มีแต่ “สร้างปัญหา” หากแต่เป็น “เกมที่สร้างประโยชน์ให้กับอนาคตชาติ”…

“เกม” ที่ถูกใช้ “เพื่อเติมทักษะที่จำเป็น”

“ให้มากกว่าการให้ความรู้” เพื่อผู้เรียน

“เกิดประโยชน์” โดย “ผ่านการเล่นเกม”

เกี่ยวกับแนวคิดการนำ “บอร์ดเกม” มาใช้เป็นเครื่องมือ “ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทย” นี้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ที่สนับสนุนโดย กสศ. ที่เกิดจากการมองว่าบอร์ดเกมไม่เพียงจะช่วยเด็ก ๆ ในเรื่องของการเรียนรู้ได้อย่างดี ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ “ช่วยเปลี่ยนครูเป็นนักจัดการเรียนรู้”อีกด้วย ช่วยให้ครูสามารถบูรณาการบทเรียนข้ามสาระวิชา ช่วยให้ครูสามารถ “เติมทักษะที่จำเป็นให้นักเรียนได้มากขึ้น” มากกว่าการทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้ในห้องเรียนอย่างเดียว โดยเด็ก ๆ จะได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านทางการลงมือทำจากการ “เล่นเกม”

แล้วจะช่วยเด็กและช่วยเปลี่ยนครูได้อย่างไร??… กับคำอธิบายเรื่องนี้ก็มีการแจกแจงขยายความไว้ในบทความชื่อ “ถอดกระบวนการสร้างสรรค์บอร์ดเกมเพื่อเรียนรู้แบบ Active Learning…ไอเดียที่ใครก็ทำได้” ที่มีการเผยแพร่อยู่ใน www.eef.or.th โดยอธิบายถึง “ประโยชน์ของบอร์ดเกม” ไว้ว่า… เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบของการใช้เกมเป็นฐาน (Game Based Learning : GBL) โดย “บอร์ดเกม” ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning  ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนในหลาย ๆ พื้นที่ได้นำไปใช้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ

ทั้งนี้ กับโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ “บอร์ดเกม” นั้น ในบทความดังกล่าวได้มีการระบุถึง “จุดเด่น” ของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ไว้ว่า… มีการ ตั้งต้นไอเดียจากโจทย์ปัญหา และก็ รู้จักใช้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนเป็นตัวตั้งต้น ตลอดจน มีความคิดสร้างสรรค์-รู้จักพลิกแพลง ด้วยการหยิบจับสิ่งที่มีรอบตัวมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเป็นบอร์ดเกมที่น่าสนใจ โดยสอดแทรกเนื้อหาที่ครอบคลุมสาระวิชาสำคัญ ๆ อีกทั้งยังแฝงไปด้วยการพัฒนาทักษะความรู้ที่จำเป็น ที่ผู้เรียนในแต่ละระดับชั้นควรได้รับ โดยมีโรงเรียน 4 แห่งที่ได้รับการนำมาเป็นกรณีศึกษา…

เริ่มจาก โรงเรียนตะกุกใต้ศึกษา โดย ครูพัสนันท์ เดชมณี ได้พัฒนา “การ์ดเกม” หรือ “เกมบัตรคำ” มาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกมที่พัฒนาขึ้นไว้ว่า… เกมนี้เป็นการจำลองภาพการเขียนคำสั่ง (Coding) ของโปรแกรม Scratch เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้แบบไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ โดยได้แรงบันดาลใจจาก “เกมบิงโก” ที่เด็ก ๆ คุ้นเคย จึงออกแบบเกมนี้ขึ้นด้วยแนวคิดหลักคือต้องเล่นง่าย-ไม่ซับซ้อน โดยการเล่นนั้น ในการ์ดแต่ละใบจะระบุคำสั่งและรายละเอียดวิธีเขียน Scratch Coding ไว้ แล้วใช้วิธีเล่นแบบบิงโก …นี่เป็นข้อมูลจากคุณครูท่านนี้…กรณี “เกมบัตรคำ”

ถัดมา โรงเรียนแม่ตะละวิทยา ทาง ครูทวีศักดิ์ ธิมา ได้พัฒนา “เกมฝึกการเรียนรู้” ให้เด็ก ๆ โดยดัดแปลงจาก “เกมบันไดงู” ซึ่งได้เล่าถึงแรงบันดาลใจไว้ว่า… จากปัญหาที่พบในชั่วโมงภาษาอังกฤษ ที่เด็กส่วนใหญ่ยัง จำพยัญชนะ A-Z ไม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อการ จำคำศัพท์ต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานการเรียนภาษาอังกฤษในระดับต่อไป จึงพัฒนาเกมนี้ขึ้นมา โดยใช้วัสดุที่มีบนโต๊ะทำงานในห้องพักครู ส่วนกติกาการเล่นก็ค่อย ๆ ปรับปรุงจากการให้เด็กทดลองเล่นจริง จนกลายเป็นเกมที่เด็ก ๆ ชอบ โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้น นอกจากจะสนุกแล้ว…เด็กหลาย ๆ คนที่เล่นเกมนี้ มีสมาธิ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักวางแผนมากขึ้น

ต่อด้วย โรงเรียนอนุบาลมหาสารคาม ทาง ครูอภิไธย ทองใบ ได้พัฒนา “เกม Food Chain Matching” ขึ้นมา ซึ่งก็ได้ให้ข้อมูลของเกมนี้ไว้ว่า… เกมดังกล่าวนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่อยาก ถอดเนื้อหาจากตำราเรียนมาไว้บนเกม จึงได้ นำเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับห่วงโซ่อาหารมาบรรจุลงในเกม โดยผู้เล่นต้องเปิดการ์ดครั้งละ 2 ใบเพื่อจับคู่อธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ถ้า matching ก็ได้การ์ดเก็บไว้ และเมื่อจบเกมใครที่มีการ์ดในมือมากกว่าก็เป็นผู้ชนะ โดยผลลัพธ์ที่ได้จากการที่เด็กเล่นเกมนี้คือ ช่วยกระตุ้นทักษะการจำ และยัง ใช้ทดสอบความเข้าใจในบทเรียนของเด็ก ๆ ได้ด้วย

และอีกกรณีศึกษาคือ โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ทาง ครูวิวัฒน์ สุภพิทักษ์กุล ได้มีการพัฒนา “เกมการ์ดวิทยาศาสตร์” เพื่อใช้อธิบายเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ขั้นสูงให้เด็กชั้นมัธยมต้น ซึ่งได้เล่าไว้ว่า… เกมนี้เป็นการ์ดเกมจับคู่ในธีมชั้นบรรยากาศโลก ช่วยในการทำความเข้าใจศัพท์ยาก ๆ และเห็นภาพชั้นบรรยากาศแต่ละระดับได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้เด็กจดจำศัพท์ได้ในระยะยาว และ ช่วยเชื่อมสู่เนื้อหาความรู้ที่ลึกขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเนื้อหา และไม่เบื่อในบทเรียน …เหล่านี้เป็นตัวอย่างโรงเรียนและคุณครูที่ได้นำเครื่องมืออย่าง “บอร์ดเกม” มาใช้ “ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก”…

เป็น “เกมเด็กที่ก่อผลดีต่ออนาคตชาติ”

นี่มิใช่ “เกมผู้ใหญ่ที่ก่อผลเสีย-ปัญหา”

ที่ “ปัจจุบันยังตะบี้ตะบันเล่นกันอยู่!!”.