เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยประสบปัญหา “ฟิวส์รถยนต์” ขาดกันมาบ้างแล้ว ซึ่งขาดของฟิวส์แต่ละตัวนั้นต้องมีที่มาและสาเหตุ วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมารู้จักกับ “ฟิวส์รถยนต์” กันครับ

“ฟิวส์ (fuse)” เป็นอุปกรณ์นิรภัยชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงในวงจรไฟฟ้าของรถยนต์ด้วย โดยมีหน้าที่ป้องกันการลัดวงจร และการใช้กระแสเกินในวงจรไฟฟ้านั้นๆ โดยจะใช้วิธีหลอมละลาย และตัดกระแสไฟออกจากวงจรเพื่อป้องการอุปกรณ์เสียหาย ฟิวส์ จะทำจากตะกั่วผสมดีบุก มีจุดหลอมเหลวที่ต่ำ

“การเลือกใช้ฟิวส์”
สำหรับวงจรไฟฟ้ารถยนต์ ต้องเลือกใช้ฟิวส์ที่มีค่าการทนกระแสไฟที่เหมาะสมโดยผู้ผลิตรถยนต์จะมีค่ากำหนดมาให้อยู่แล้ว โดยไม่ควรใช้ ฟิวส์ ที่มีค่าการทนกระแสที่สูงเกินหรือตํ่าเกินไป

ศัพท์ต่าง ๆ ที่แสดงบนแผงฟิวส์
Head Lamp / Head Light = ไฟหน้า ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Clearance/Parking Light = ไฟหรี่ ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Tail =ไฟท้าย ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
License Plate =ไฟส่องป้าย ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Instrument Cruiser/Meter & Gauge = ไฟหน้าปัด ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Stop Lamp = ไฟเบรก ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์
Turn Signal /Turn = ไฟเลี้ยว ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์
Hazard /Hazard Warning = ไฟฉุกเฉิน ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์
Back-up Lamp = ไฟถอยหลัง ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Dome Light / Interior Lamp = ไฟในห้องโดยสาร ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Voltage Regulators/Charging System = ไฟชาร์จ ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์
Radio / Audio = วิทยุ ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Air condition /Air Cond = แอร์ ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Clock / Digital Clock = นาฬิกา ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 10 แอมป์
Cigaratte Lighter /Cigar/ Lighter = ที่จุดบุหรี่ ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 20 แอมป์
Horn =แตร ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์
Wiper & Washer = ปัดน้ำฝน/ล้างกระจก ส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ฟิวส์ขนาด 15 แอมป์

“การเปลี่ยนฟิวส์ เมื่อวงจรไฟฟ้าไม่ทำงาน”
สิ่งแรกที่ควรตรวจสอบคือฟิวส์ ว่าขาดหรือไม่ ถ้าฟิวส์ขาด ให้เปลี่ยนฟิวส์ที่มีค่าการทนกระแสเท่าเดิมหากไม่แน่ใจให้ดูในคู่มือหรือภาพวงจรที่อยู่บนกล่องฟิวส์หรือข้าง ๆ ทั้งนี้หากฟิวส์ดังกล่าวขาดอีกให้ตรวจสอบอุปกรณ์ในวงจรนั้น ๆ อาจเกิดการเสียหายหรือลัดวงจร

ทั้งนี้ หากใช้ฟิวส์ ที่มีค่าการทนกระแสสูงเกินไป “ฟิวส์” จะไม่สามารถช่วยตัดวงจรนั้นๆ ยามที่เกิดปัญหาได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าใช้ฟิวส์ที่มีค่าการทนกระแสตํ่าเกินไป ฟิวส์ตัวดังกล่าวก็จะขาดอยูเป็นประจำครับ…

………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]