การเล่นนอกจากจะส่งเสริมทักษะพัฒนาการด้านต่าง ๆ การประดิษฐ์ออกแบบของเล่นยังบอกเล่าความสุขความสนุกของผู้เล่น ได้ค้นคว้า ทดลองสร้างสรรค์เพิ่มพูนความรู้…


“ของเล่นภูมิปัญญาไทย” ของเล่นที่ไม่เพียงมอบความสุขความเพลิดเพลิน ของเล่นที่มีเอกลักษณ์ที่สร้างสรรค์จากธรรมชาติ จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ยังเป็นเครื่องมือเป็นสื่อการเรียนรู้เชื่อมความสนใจ เข้าใจวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้ชวนค้นเรื่องน่ารู้ ถอดรหัสความสนุกของเล่นภูมิปัญญาไทย ของเล่นวิทยาศาสตร์ ของเล่นที่สร้างแรงบันดาลใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการต่อ ยอดการพัฒนาของเล่นวิทยาศาสตร์ โดย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ความรู้ประเด็นนี้ว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เราเป็นแหล่งความรู้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงได้ มีส่วนร่วมมีประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกัน

ในด้านการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมของเล่นวิทยา ศาสตร์ได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ได้เล่นเรียนรู้และประดิษฐ์ได้เอง อย่างเช่น ของเล่นภูมิปัญญาไทย, NSM Paper Toy, Science Toy เป็นการเรียนรู้ผ่านของเล่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิทยาศาสตร์รอบตัวที่หลากหลาย“ของเล่นวิทยาศาสตร์เป็นสื่อ เป็นเครื่องมือที่ดีใน การสื่อสาร สร้างความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเสียง แรง หรือพลังงาน ฯลฯ ของเล่นสามารถอธิบายเรื่องราว หลักการต่าง ๆทางวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยเรามีความมุ่งมั่นส่งเสริมและขับเคลื่อนของเล่นวิทยาศาสตร์ ต่อยอดและสร้างโอกาสการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์ ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และมากกว่าความเข้าใจวิทยาศาสตร์ ของเล่นยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกล้ามเนื้อ การคิดวิเคราะห์ ฯลฯ ทั้งสร้างเสริมความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว”

ของเล่นวิทยาศาสตร์บางอย่างอาจมีความซับซ้อนอาจ ต้องประกอบสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยผู้ใหญ่ต้องช่วยเหลือเด็ก ๆ หรือ ของเล่นบางชิ้นเด็กมีความคุ้นเคยกว่าผู้ใหญ่ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้น่าจะเป็นโอกาสยกระดับส่งเสริมสร้างสรรค์ของเล่นวิทยาศาสตร์ สร้างงานสร้างอาชีพให้ เกิดขึ้น

“ของเล่นภูมิปัญญาไทย แต่ละชิ้นซ่อนคุณค่าสร้างเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในเรื่องต่าง ๆ ไว้มาก ที่ผ่านมาเราศึกษาวิจัย ทั้งพัฒนาต่อยอด หรือในส่วนแสดงอื่น ๆ ในพิพิธภัณฑ์ฯ ดังที่กล่าวเราออกแบบของเล่นวิทยาศาสตร์ ดีไซน์กล่องบรรจุภัณฑ์ มีคู่มือการเล่น ฯลฯ รวมถึงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติในปีนี้เตรียมจัดการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมของเล่นวิทยาศาสตร์ บอกเล่าสุภาษิตไทยด้วย

Automata Toys ซึ่งผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะและการใช้ความรู้ทางวิศวกรรม จินตนาการออกแบบและสร้างของเล่นที่สามารถเคลื่อนไหวตามกลไก สนุกกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์”

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์

ผศ.ดร.รวิน ให้มุมมองเพิ่ม อีกว่า สำหรับของเล่นภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งที่ควรแก่การอนุรักษ์ ที่ผ่านมาเรารวบรวมและจัดแสดงของเล่น และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาของเล่น ส่งต่อองค์ความรู้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ทั้งออกแบบดีไซน์ นำเสนอผ่านวัสดุ ใหม่ ๆ อย่างเช่น หนอนดิน เดิมที ใช้กะลามะพร้าวเป็นวัสดุ ดัดแปลง ใช้กระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ที่ทันสมัย ดีไซน์ของเล่นสวยงาม ฯลฯ โดย ถ้าต้องส่งออกหรือนำไปจัดแสดง ต่างประเทศจะมีความสะดวก เข้าถึงผู้เล่น ฯลฯ หรือของเล่นจาก ไซรินจ์ธรรมดา สร้างสรรค์เป็นจรวด แฝงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องลม พร้อมให้สนุกเรียนรู้ได้ทดลองวิทยาศาสตร์ผ่านของเล่นและการเล่น อีกทั้ง ของเล่นวิทยาศาสตร์ชุดเคมี ดีไซน์ของเล่นคล้าย กับห้องแล็บเล็ก ๆ สามารถเล่นทดลองได้โดยปลอดภัย ฯลฯ เป็นอีกตัวอย่างของเล่นวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความหลากหลายที่พัฒนาขึ้น เพื่อส่งเสริมสร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สนุกไปกับการเล่นและเรียนรู้

ดร.พีรนุช กัณหดิลก

ทางด้าน ดร.พีรนุช กัณหดิลก ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งขาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยา ศาสตร์แห่งชาติให้ความรู้ของเล่นภูมิปัญญาไทย ของเล่นที่มาก ด้วยเรื่องราวความรู้วิทยาศาสตร์ที่แฝงอยู่เพิ่มอีกว่าของเล่นเหล่านี้สื่อสารทำให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแรงบันดาลใจเป็นสื่อเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน อย่างเช่น กำหมุน ของเล่นที่เกี่ยวกับความเฉื่อย

“ของเล่นชิ้นนี้เมื่อดึงเชือกที่ยึดติดกับแกนกลางใบพัดจะทำให้ใบพัดหมุน เมื่อปล่อยใบพัดจะหมุนต่อเนื่องเพราะความเฉื่อย และเมื่อดึงแล้วผ่อนเป็นจังหวะ ใบพัดจะเคลื่อนที่ต่อเนื่องตลอดเวลา เกิดจากการมีอยู่ของโมเมนต์ความเฉื่อย ฯลฯ เป็นหนึ่งในของเล่นชวนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ อธิบายหลักการฟิสิกส์เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยของเล่นในกลุ่มนี้มีหลายรูปแบบ”

ขณะที่ จักจั่น อีกหนึ่งของเล่นภูมิปัญญาไทยที่มีเสน่ห์ มีเสียงเหมือนจักจั่นในธรรมชาติ เป็นของเล่นประเภทเสียง เรียนรู้งเรื่องเสียง การเดินทางของเสียง ค้นหาความต่างของเสียงที่เกิดขึ้น คอปเตอร์ไม้ไผ่ กังหันหรือว่าวชนิดต่าง ๆ ของเล่นที่เคลื่อนที่จากแรงยก อย่างเช่น กังหัน ลอยขึ้นสู่ฟ้าเพราะแรงยกที่เกิดจากใบพัดที่บิดเกลียวเหมือนใบพัดของคอปเตอร์ สำหรับ ว่าว เมื่อได้รับลมมาปะทะด้านหน้า ทำให้ด้านหลังว่าวโค้งมีความเร็วลมมากกว่าด้านหน้าจึงเกิดแรงยกใต้ตัวว่าวทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่ฟ้า

ส่วนของเล่นที่ใช้สปริง อย่างเช่น หนูกะลา หนอนดิน ด้วงชนกัน หรือรถหลอดด้าย เป็นตัวอย่างหนึ่งของของเล่นที่พบเล่นกันในทุกภูมิภาค ใช้หลักการของหนังยางหดบิดเป็นเกลียวและคลายตัวเพื่อเป็นสปริงในการเคลื่อนที่ ลูกข่าง ก็เช่นกันพบการในหลายภูมิภาค มีหลายรูปแบบและมีหลายวิธีการเล่น ไม่ว่าจะใช้เชือก โดยเล่าเรื่องโมเมนตัมเชิงมุม

“ลูกข่างหมุนจากแรงที่เราใช้หมุนลูกข่าง แรงจะทำให้เกิดโมเมนตัมเชิงมุมคือการหมุนรอบแกนด้วยแรงที่เท่ากัน ทุกทิศทาง ทำให้ลูกข่างหมุนอย่างต่อเนื่องซึ่งจะคงสภาพการหมุนจนกว่าจะมีแรงอื่นมากระทำวัตถุ จากที่กล่าวลูกข่างมีหลายชนิด เช่น ลูกข่างไม้ ทำจากวัสดุไม้เหลาหรือกลึงเป็นรูปวงกลมทำให้สูงจากพื้นโดยใส่แกนไม้หรือไม้ไผ่ที่เหลาปลายแหลมเล่นโดยใช้มือหมุน

ลูกข่างโว้ ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ด้านข้างเจาะช่องขนาดเล็กเมื่อหมุนด้วยความเร็วอากาศจะผ่านเข้าไปในช่องเกิดเสียง ส่วน ลูกข่างสตางค์ ทำจากไม้กลึงแบนเป็นรูปวงกลมมีความหนาพอประมาณมีไม้ไผ่เป็นแกนกลางเพื่อช่วยในการหมุน เวลาเล่นใช้เชือกพันที่แกนแล้วหมุนโดยลูกข่างชนิดนี้ในสมัยก่อนทำจากสตางค์ นอกจากนี้ยังมีลูกข่างสะบ้า ทำจากลูกสะบ้าใส่ไม้ไผ่เป็นแกนกลางสำหรับหมุน ลูกข่างไม้ ขาลูกข่างทำด้วยไม้หรือเหล็กแหลม เป็นต้น”

ดร.พีรนุช อธิบายเพิ่มอีกว่า ของเล่นภูมิปัญญาไทยยังมี ของเล่นที่เกี่ยวกับความสมดุล โดยความสมดุล หมายถึงการจัดวางตำแหน่งให้มีน้ำหนักเท่ากัน ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง โดยของเล่นที่เกี่ยวกับความสมดุลได้แก่ โมบายปลาตะเพียน โมบายนก ส่วนแมลงปอไม้ไผ่ นกไม้ไผ่ นอกจากส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสมดุลแล้วยังแทรกเรื่องการดำเนินชีวิตและธรรมชาติวิทยา ดังเช่น ธรรมชาติของแมลงปอที่มักเกาะกิ่งไม้นิ่ง ๆ เป็นต้น

อีกทั้งมีของเล่นประเภทการแก้ปัญหาอย่างเช่น พญา ลืมแลงและพญาลืมงาย หรือเสือลอดถ้ำ เป็นความท้าทายการแก้เชือก การนำเชือกออกจากโครงไม้ไผ่และใส่กลับคืนเดิมของของเล่นพญาลืมแลง ส่วนอีกพญาลืมงายคือการนำลูกปัดจากด้านใดด้านหนึ่งมาอยู่รวมกันและแยกออกจากกันอีกครั้ง โดยผู้เล่นจะต้องทดลองเล่น สังเกตและหาวิธี ที่ถูกต้องที่นำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา เป็นหนึ่งในทักษะทางวิทยาศาสตร์ซึ่งนำไปเชื่อมโยงประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในเรื่อง ต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ร่วมบอกเล่าเรื่องราวของเล่นภูมิ
ปัญญาไทย

ของเล่นและการเล่นเชื่อมโยงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ