เปิดบริการอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลสายแรกของประเทศไทยเส้นสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. 23สถานี แม้ต้องควักกระเป๋าเพิ่มจ่ายค่ารถไฟฟ้า แต่คนกรุงเทพฯก็โอเคกับวิถีการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าที่สะดวกรวดเร็วกว่า และเร็วๆ นี้ก็จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่2 สีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. 30 สถานี

ข่าวคราวของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลแฮปปี้กับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ ซึ่งรวมโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เปิดบริการในปัจจุบันรวม 12 สาย ระยะทาง 241 กม.(รวมสีเหลือง 30 กม. ) ยิ่งกระตุ้นต่อมผู้คนต่างจังหวัดอยากสัมผัสรถไฟฟ้าบ้าง โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองภูมิภาคและจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญรวม 6 จังหวัด ที่มีแผนก่อสร้างมานานหลายปี ล่าสุดตอนนี้ถึงไหนแล้ว…..ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ มีคำตอบ…

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) บอกเล่า สถานะโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดว่า ขณะนี้โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)ในภูมิภาค ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ รฟม. ต้องรอรับนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่

ซึ่งรฟม. ได้จัดทำบรรยายสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการแทรมภูเก็ต ระยะที่ 1ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง, แทรมเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี), แทรมนครราชสีมา(โคราช) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) และแทรมพิษณุโลก สายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก – เซ็นทรัลพลาซ่า) เพื่อเตรียมรายงานรมว.คมนาคมคนใหม่รับทราบแล้ว

นายภคพงศ์ อธิบายต่อว่า ก่อนหน้านี้ที่มีแผนจะเปลี่ยนแทรมภูเก็ต เป็นรถรางล้อยาง (Automated Rapid Transit : ART) เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างนั้น ต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้งเช่นกัน โดยจะนำผลการศึกษาทบทวนรายละเอียด ความเหมาะสม ปรับปรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปท่าฉัตรไชย อาทิ รูปแบบโครงสร้างของโครงการฯ ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม และการขยายแนวเส้นทางต่อไปยังท่าฉัตรไชย เสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาด้วย

ย้อนดูแผนศึกษาและแผนดำเนินโครงการของรฟม. “แทรมภูเก็ต” ระยะทาง 41.7กม.วงเงิน 3.5หมื่นล้านบาท มีแผนเปิดประมูลปี 2563 และเปิดบริการปี 2567 จะเป็นแทรมสายแรกในไทยและรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัด ขณะที่ “แทรมเชียงใหม่” ระยะทาง 15.8กม. วงเงิน 2.7หมื่นล้านบาท มีแผนเปิดประมูลปลายปี 2564 เปิดบริการปี 2570 ส่วน “แทรมโคราช” ระยะทาง 11.17กม. วงเงิน 8พันล้านบาท มีแผนเปิดประมูลปี 2565 ให้บริการปี 2568 และ “แทรมพิษณุโลก” ระยะทาง 12.6กม. วงเงิน 1.56พันล้านบาท มีแผนเปิดประมูลปี 2566 เปิดบริการปลายปี 2569

ศักดิ์สยาม" สั่งทช.แบล็กสิสต์ผู้รับเหมาทิ้งงาน | เดลินิวส์

ภายหลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มาเป็นรมว.คมนาคม เมื่อปี 2563 มีนโยบายให้ รฟม. ทบทวนปรับรูปแบบแทรม เป็น ART เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง ทำให้ รฟม. ต้องศึกษาทบทวนรูปแบบใหม่ เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุด เบื้องต้นพบว่า “แทรมภูเก็ต” จะปรับเป็น ART ขณะที่ “แทรมเชียงใหม่” เป็นรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ด้าน “แทรมโคราช” เป็นรถโดยสาร E-BRT ส่วน “แทรมพิษณุโลก” ยังไม่ได้ศึกษาทบวนรูปแบบ ทั้งนี้ผลการศึกษายังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการในรูปแบบตามที่ศึกษาหรือไม่ เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

สำหรับโครงการแทรมนั้น แม้จะทบทวนรูปแบบการดำเนินงานใหม่ แต่ในส่วนของผลการศึกษาเดิมที่ยังเป็นแทรมของ 4 จังหวัดนั้น ยังเดินหน้าจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอ ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.)

โดยในส่วนของแทรมเชียงใหม่ และแทรมโคราช ได้ตอบชี้แจงอีไอเอเกี่ยวกับข้อคิดเห็นต่างๆ ของ คชก. เป็นครั้งที่ 2 แล้ว หากอีไอเอผ่านการพิจารณา และรัฐบาลชุดใหม่ยังคงให้ดำเนินการในรูปแบบของแทรม ก็สามารถดำเนินโครงการต่อได้ทันที

ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่มีรูปแบบเป็นโมโนเรลหาดใหญ่ เส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กม. วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท มีอบจ. สงขลาเป็นเจ้าของโครงการ และแทรมขอนแก่น สายสีแดงช่วงสำราญ-ท่าพระวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท มีบริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็มท์ จำกัด (KKTS)  วิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ 5 เทศบาลจังหวัดขอนแก่น เป็นเจ้าของโครงการ ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้มาก่อสร้างโครงการได้

ความหวังของผู้คนต่างจังหวัดที่จะได้ใช้รถไฟฟ้า ต้องส่งผ่านรัฐบาลใหม่ว่าจะผลักดันต่อหรือว่าให้มีพอแค่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์