เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า กรณีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ที่ประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้วิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 1,069 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุ 61-70 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 71-80 ปี ถ้าจำแนกตามเพศ พบว่าเป็นเพศชาย 56.31 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 43.69 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังพบว่า 10 อันดับเขตของ กทม. ที่พบผู้ติดเชื้อมากที่เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ 1.จตุจักร 52 ราย 2. คลองเตย 52 ราย 3.จอมทอง 37 ราย 4.ดินแดง 32 ราย 5.คลองสามวา 30 ราย 6.ธนบุรี 30 ราย 7.ป้อมปราบศัตรูพ่าย 29 ราย 8.บางกะปิ 28 ราย 9.ลาดพร้าว 27 ราย และ 10.บางเขน 27 ราย

โฆษก ศบค. กล่าวว่า  ส่วน 40 เขตที่เหลือ คือ บางแค 26 ราย หลักสี่ 25 ราย บางซื่อ 25 ราย สวนหลวง 22 ราย สายไหม 21 ราย ราชเทวี 21 ราย บางรัก 21 ราย ปทุมวัน 21 ราย ภาษีเจริญ 20 ราย บางคอแหลม 20 ราย บางนา 18 ราย มีนบุรี 18 ราย คลองสาน 18 ราย ประเวศ 17 ราย ยานนาวา 17 ราย สาทร 16 ราย บางขุนเทียน 16 ราย พญาไท 15 ราย ห้วยขวาง 15 ราย ดุสิต 15 ราย ลาดกระบัง 15 ราย บางกอกน้อย 14 ราย ดอนเมือง 13 ราย บางกอกใหญ่ 13 ราย ราษฎร์บูรณะ 13 ราย สัมพันธวงศ์ 13 ราย ทุ่งครุ 13 ราย บางพลัด 12 ราย พระนคร 12 ราย วังทองหลาง 12 ราย พระโขนง 11 ราย หนองแขม 11 ราย วัฒนา 10 ราย หนองจอก 10 ราย บึงกุ่ม 10 ราย บางบอน 9 ราย คันนายาว 8 ราย ตลิ่งชัน 7 ราย สะพานสูง 7 ราย และทวีวัฒนา 4 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมแนวโน้มการติดเชื้อทั้งประเทศ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด พบว่าตามปกติ กราฟแนวโน้มสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นภาพที่สอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศ โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดูเหมือนว่าจะลงมาเล็กน้อย แต่ภาพกราฟของต่างจังหวัด จะไปสอดคล้องเหมือนกับทั้งประเทศแล้ว ทั้งนี้ การที่ผู้ใช้แรงงานกลับไปในจังหวัดที่ภาคอีสานมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้กราฟผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้น ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 117 แห่ง จำนวนเขตอยู่ที่ 46 เขต จาก 50 เขต โดยมีกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดอยู่ที่ 100 แห่ง และกลุ่มที่เฝ้าระวังคือไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ใน 14 วัน จำนวน 17 แห่ง และมีคลัสเตอร์ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่ 28 วันขึ้นไปจำนวน 27 แห่ง

โฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์ใหม่พบในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 7 คลัสเตอร์ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รวม 324 ราย โดยคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ 1.จ.สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นโรงงานอาหารกระป๋อง 2 แห่ง รวม 27 ราย อ้อมน้อย และโรงงานเสื้อผ้า 53 ราย  2.จ.ชลบุรี อ.ศรีราชา บริษัทโลจิสติกส์ 12 ราย 3.จ.พระนครศรีอยุธยา อ.วังน้อย ตลาดใหญ่วังน้อย 181 ราย 4.จ.ตาก อ.แม่สอด โรงงานเสื้อผ้า 33 ราย 5.จ.ฉะเชิงเทรา แคมป์ก่อสร้าง 18 ราย ทั้งนี้มีของเก่า แต่ยังกลับมาใหม่ได้ ต้องช่วยกันดูด้วย เรื่องมาตรการการรักษาความสะอาดของแต่ละตลาดเป็นอย่างไร เรื่องตลาด จะเน้นย้ำว่ายังวนกลับไปกลับมาได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนคลัสเตอร์เก่าที่ยังพบติดเชื้อต่อเนื่อง ได้แก่ สมุทรปราการ อ.บางบ่อ โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร รวม 138 ราย, สมุทรสาคร อ.เมืองสมุทรสาคร บริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติก รวม 42 ราย, ปทุมธานี อ.คลองหลวง ตลาดไท รวม 1,722 ราย, สงขลา ในพื้นที่ 7 อำเภอ โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง รวม 1,012 ราย, 12 จังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี ภูเก็ต นราธิวาส สงขลา สตูล กระบี่ พัทลุง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง คลัสเตอร์มัรกัล ดะวะห์ โรงเรียนปอเนาะ รวม 868 ราย, ชลบุรี อ.บางละมุง โรงงานน้ำแข็ง รวม 79 ราย อ.ศรีราชา แคมป์ก่อสร้าง 2 แห่ง รวม 439 ราย, สุราษฎร์ธานี อ.เมือง ศูนย์ฝึกตำรวจภูธร รวม 36 ราย, สระบุรี อ.หนองแค บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวม 346 ราย, ลพบุรี อ.เมืองลพบุรี โรงงานผลิตจอโทรศัพท์ รวม 54 ราย อ.พัฒนานิคม โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ รวม 68 ราย, ตาก อ.แม่สอด โรงงานเสื้อผ้า 188 ราย, กระบี่ โรงเรียนที่คลองท่อม รวม 19 ราย.