เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. ฐานะประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย นายนิกร จำนง กรรมการ และเหรัญญิก มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ให้การต้อนรับ พล.ต.โอสถ ภาวิไล เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิก นายพิทักษ์ พลขันธ์ หัวหน้าคณะนักกีฬา นายปิยชนน์ อินอ่อน เจ้าหน้าที่นักกีฬาว่ายน้ำกลุ่มความพิการทางสมอง นำคณะตัวแทนคณะนักกีฬา ผู้ฝึกสอนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ทีม เข้าพบและขอพรก่อนเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 3-9 มิ.ย. 66 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยส่งคณะนักกีฬา 304 คน ผู้ฝึกสอนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอน 132 คน และเจ้าหน้าที่ทีม 43 คน รวม 479 คน ลงแข่งขันใน 13 รายการ
น.ส.กัญจนา กล่าวว่า การแข่งขันกีฬาครั้งนี้ ถึงจะใกล้บ้าน ที่ราชอาณาจักรกัมพูชา อาจจะมีปัญหาในรูปแบบใหม่ ๆ บ้างก็ไม่เป็นไร ก็ช่วยกันแก้ไขปัญหากันไป และทุกครั้งที่เราได้เจอกัน ทำให้คิดถึง นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคุณพ่อ ที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 เมื่อปี 42 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งน้องๆ นักกีฬา อาจจะมาใหม่ ครั้งนั้นประเทศไทยรู้ว่าจะเป็นเจ้าภาพล่วงหน้าก่อน 7 ปี แต่ไม่ได้เตรียมการอะไร จนมีสมาชิกวุฒิสภา มาขอให้นายบรรหาร ช่วยสนับสนุน ซึ่งพรรคชาติไทยในขณะนั้น ที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ได้ระดมทุน และสรรพกำลัง จนทำให้จัดการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำเร็จ และกีฬาที่ นายบรรหาร ชอบมากก็เป็นการแข่งขันว่ายน้ำของคนพิการ
น.ส.กัญจนา ยังกล่าวว่า จากนั้นการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ได้เปลี่ยนมาเป็นอาเซียนพาราเกมส์ เพื่อให้ทุกประเทศในแต่ละภูมิภาคได้ตระหนักถึงศักยภาพของคนพิการ เพราะถ้าทุกคนถ้าได้รับการส่งเสริม เขาก็สามารถทำทุกอย่างได้ และเมื่อคนพิการได้แสดงศักยภาพให้คนทั่วไปทั้งประเทศได้เห็น เขาก็ยังเป็นพลังใจให้กับคนปกติทั่วไป ที่ท้อแท้ในชีวิตด้วย และที่เล่าให้น้องๆ ฟัง จากครั้งนั้น ทำให้คนพิการได้รับสิทธิต่างๆ มากมาย และการที่พรรคชาติไทย ดูกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เรามีนโยบายว่า คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การศึกษาของคนพิการได้เรียนร่วมกับคนปกติทั่วไป
“พูดไปด้วยเลยว่าโลกนี้ มันอยู่ด้วยกันทั้งคนปกติคนพิการ คุณจะแยกให้คนพิการต้องเรียนต่างหาก คนปกติต้องเรียนต่างหาก มันไม่ได้ เพราะในที่สุดก็ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน คนไหนที่สามารถเรียนร่วมกับคนปกติได้ ต้องให้มีการเรียนร่วม นอกจากพิการมากๆ อาจจะต้องแยกเป็นโรงเรียนเฉพาะ” น.ส.กัญจนา กล่าว
น.ส.กัญจนา ยังกล่าวว่า จนถึงวันนี้เรายังรับช่วงต่อในการสนับสนุนนักกีฬาคนพิการและอยากจะบอกน้องๆ ทุกคน ให้เชื่อมั่น และพยายามทำดีที่สุด จะได้เป็นเจ้าเหรียญทองหรือไม่เป็นเจ้าเหรียญทอง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งสำคัญ คือ จิตใจที่เป็นนักกีฬาของพวกเรา และการเป็นตัวอย่างให้กับสังคมเห็นว่าสภาพร่างกายและจิตในเราแข็งแกร่งอย่างไร
“คนรุ่นใหม่วันนี้ มีแรงต้านทานต่อปัญหาน้อยมาก ผิดหวังอะไรนิดหน่อยก็ฆ่าตัวตายกันแล้ว แต่ถ้าเขาได้มาดูพวกเรา ที่มีร่างกายไม่ครบ 32 เรายังทำชื่อเสียงให้ประเทศได้อย่างนี้เขาต้องมีพลังใจ อย่าไปคิดถึงส่วนที่บกพร่อง สมมุติว่า ถ้าเราบกพร่องเรื่องขาอวัยวะเรามีตั้ง 32 อย่าง เรายังดีมีอีกตั้ง 31 อย่างที่ยังอยู่ เราจะต้องไปใส่ใจกับส่วนที่พร่องทำไม เราก็ต้องพยายามฝึกให้มันทำได้เท่าที่ทำได้ เรายังมีส่วนดีๆ ตั้งเยอะ จึงขอเป็นกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกคน และเชื่อมั่นว่าเพลงชาติไทยจะต้องดังหลายๆ ครั้งในประเทศกัมพูชา ในการแข่งขันครั้งนี้” น.ส.กัญจนา กล่าว
ด้าน นายนิกร กล่าวว่า ความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการ ที่มากกว่าเหรียญทอง คือการทำให้คนไทยและทั่วโลกรู้ว่าคนพิการ มีตัวตน และมีความเสมอภาค เสมอกัน และที่มากกว่านี้ คือการบอกให้คนรุ่นต่อๆ ไป รู้ว่า คนพิการมีตัวตน และต้องการที่จะยืนด้วยขาข้างที่มี ทำอะไรด้วยมือที่มี พลังใจนี้จะทำให้คนพิการได้เจิดจ้าขึ้นมา เกิดความรู้สึกประทับใจ มีความมั่นคงทางใจ ในสังคม นอกจากเหรียญรางวัล สิ่งสำคัญคือ มรรยาท น้ำใจนักกีฬา และศักดิ์ศรีของคนไทย นักกีฬาไทย ที่เราจะต้องแบกไว้ เมื่อไปอยู่ ไปแข่งขันยังต่างแดน
ขณะที่ พล.ต.โอสถ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ หวังว่าประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าเหรียญทอง แต่ก็ยังรู้สึกหวั่นใจ เพราะถูกตัดการแข่งขันไปหลายรายการ และกำลังประท้วงเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขันอยู่ แต่ทีมนักกีฬาก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่มีโอกาส หากครั้งนี้ไม่ได้ ในปี 68 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เชื่อมั่นว่าเราจะเป็นเจ้าเหรียญทองได้อย่างแน่นอน.